พท.เสนอผ่าทางตันแก้ รธน. “ประยุทธ์” ชง กมธ.ร่วมลดหลักเกณฑ์ผู้มาออกเสียงจากไม่น้อยกว่า 50% ลงมาเหลือ 20-30% หวังประนีประนอมกับ สว.ให้แก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ย้ำเป้าหมายทำประชามติแค่ 2 ครั้ง สว.พร้อมรับฟังให้เอาเหตุผลมาคุยกัน รทสช.รีบค้าน อ้างคำวินิจฉัยศาล รธน.ต้องทำ 3 ครั้ง หวั่นมีปัญหาภายหลัง พปชร.ขู่ลดเหลือ 2 ครั้งมีปัญหาแน่ “ไพบูลย์” เย้ยสภาไม่กล้าฝืนบรรจุวาระ นายกฯเรียกแกนนำพรรคร่วมถก 2 ปมร้อน “เกาะกูด-แก้ รธน.”

นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เตรียมเสนอที่ประชุม กมธ.ร่วม ขอลดหลักเกณฑ์จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ จากที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 50% ลดลงมาเหลือไม่น้อยกว่า 20-30%

พท.ชงลดหลักเกณฑ์ประชามติ

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ร่วมฯ ในวันที่ 6 พ.ย. เพื่อพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการจัดทำประชามติว่า จะขอหารือลดหลักเกณฑ์จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิที่กำหนดต้องมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้มีจำนวนลดลง การกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติต้องไม่น้อยกว่า 50% ถือว่ามากไป โดยเฉพาะถ้าเป็นการทำประชามติเรื่องที่ประชาชนไม่สนใจ อาจทำให้ประชามติเป็นโมฆะได้ ควรปรับลดลง แต่จะลดลงเท่าไรให้มาหารือในที่ประชุม เช่น อาจปรับลดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเหลือ 20-30% จะทำได้หรือไม่ เป็นการหาแนวทางประนีประนอม

รอฟัง กมธ.ร่วมจะเอาด้วยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก สว.จะยอมหรือไม่ที่จะให้ลดเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงมา นายประยุทธ์ตอบว่า ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล ยังไม่รู้ สว.จะตอบรับหรือไม่ ยังไม่เคยคุยกันนอกรอบประเด็นนี้ เดาใจ สว.ไม่ถูก แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วน่าจะหาหลักเกณฑ์ตกลงรอมชอมกันได้ในชั้น กมธ.ร่วม ถ้าตกลงไม่ได้เรื่องจะบานปลาย ต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดยืนตัวเอง อาจต้องพักร่างกฎหมาย ฉบับนี้ 180 วัน เพื่อยืนยันเนื้อหาตามร่างเดิมของ สส. ที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เมื่อถามว่า หากต้องพักกฎหมาย 180 วัน เพื่อยืนยันร่างเดิมของ สส. จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายประยุทธ์ตอบว่า อย่าเพิ่งคิดล่วงหน้าไปไกล รอดูในชั้น กมธ.ร่วมก่อน คิดว่าการประชุมน่าจะมีทิศทางชัดเจนขึ้น

...

ย้ำเป้าหมายทำประชามติ 2 ครั้ง

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยจะยอมถอยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือไม่ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้ นายประยุทธ์ตอบว่า ต้องใช้เหตุผลคุยกัน ยังไม่ฟันธงจะยอมตามที่ สว.เสนอมา ขอรอมชอมกันก่อน ส่วนแนวทางนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะให้ทำประชามติ 2 ครั้งนั้น เรามีเป้าหมายเช่นนี้ แต่จะใช้วิธีใดดำเนินการยังไม่รู้ ต้องคุยกันให้รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อถามว่าเกรงหรือไม่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ จะมีการโยนความผิดให้พรรคเพื่อไทย นายประยุทธ์ตอบว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่คงไปห้ามความคิดใครไม่ได้

ไม่ได้ยึกยักกระบวนการแก้ รธน.

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย และประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ยึกยักกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้มีแต่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีขั้นตอน สว.มาเกี่ยวข้องด้วย ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยพยายามทำทุกทางเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้ การแก้รายมาตราก็ทำแต่มีปัญหาติดขัด ขอให้รอ กมธ.ร่วมก่อนว่าพอจะตกลงผ่อนปรนลดเงื่อนไขการทำประชามติได้หรือไม่

รทสช.ยึดคำวินิจฉัยศาล รธน.

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอแนวทางเพื่อเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วขึ้น รวมถึงลดการจัดทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง ว่า เรื่องนี้เคยเสนอเข้าสู่สภาแล้ว และที่ประชุมเคยมีมติว่าเราต้องปฏิบัติตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นคือต้องทำประชามติ 3 ครั้ง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติว่าหากจะแก้ไขมาตราใด ต้องทําประชามติอีกครั้งด้วย ดังนั้นหลักการของพรรค รทสช.คือต้องทําตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เราไม่ได้ขัดข้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือมาตราที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน หากแก้ไขไม่ทันคิดว่าประชาชนเข้าใจ ดีกว่าไปดันทุรังแก้โดยผิดกฎหมาย และถูกร้องเป็นปัญหาได้ภายหลัง หากพรรค พท.มีข้อเสนอใหม่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ขอให้นำมาหารือกัน พรรค รทสช.จะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมพรรค เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคและ สส.มีมติว่าจะไปในทิศทางใด

พปชร.ขู่ลดเหลือ 2 ครั้งมีปัญหาแน่

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอแนวทางเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจลดการทําประชามติเหลือ 2 ครั้ง โดยอ้างคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญ 6 เสียงว่า การนำคำวินิจฉัยส่วนตนมาใช้พิจารณาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าให้มีผลผูกพันทุกองค์กร ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่าก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ดังนั้นการจะใช้เรื่องนี้เพื่อทำประชามติ 2 ครั้งจึงไม่ถูกต้อง หากดำเนินการไปจะมีปัญหาเหมือนเดิม

เชื่อสภาไม่กล้าฝืนบรรจุในวาระ

เมื่อถามว่าหากพรรค พท.ยืนยันจะใช้แนวทางดังกล่าว จะขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เชื่อว่าสภาจะไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม เพราะครั้งก่อนประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ฝ่ายกฎหมายสภาพิจารณา ซึ่งเขาไม่กล้าบรรจุเป็นวาระ เพราะถือว่าเป็นญัตติที่ไม่ชอบขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่านอกจากการทำประชามติ 3 ครั้งแล้ว มีทางอื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ต้องแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ถึงไม่ต้องทำประชามติก่อน

สว.รับฟังเอาเหตุผลมาคุยกัน

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. โฆษก กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย รองประธาน กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ จะเสนอต่อที่ประชุมร่วมฯวันที่ 6 พ.ย.ให้ปรับลดหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหลือจำนวนผู้มาออกเสียงทำประชามติ 20-30% จากเดิม 50% ว่า ที่ประชุม กมธ.ร่วมพร้อมรับฟังเหตุผล แต่จะได้ข้อสรุปอย่างไร ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม เจตนารมณ์ สว.ในเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการทำประชามติให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ จึงกำหนดต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง หากจะลดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเหลือ 20-30% ต้องดูรายละเอียดและองค์ประกอบอื่นด้วยว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร เอาเหตุผลมาคุยกัน สว.ไม่ได้ติดขัดเรื่องจำนวนเสียงที่ออกมาใช้สิทธิ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ

เรียกพรรคร่วมรัฐบาลถก 2 ปมร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสกดดันจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เพราะเกรงว่าอาจทำให้ไทยเสียเกาะกูด รวมถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่น่าเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดมาหารือ 2 เรื่องดังกล่าว ที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ในวันที่ 4 พ.ย. เวลา 13.30 น.

กมธ.เรียก “เสรีพิศุทธ์” ขยี้ปมชั้น 14

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทน ราษฎร นัดประชุมวันที่ 7 พ.ย. เวลา 09.30 น. มีวาระพิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กรณีกรมราชทัณฑ์ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ได้แก่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผช.ผบ.ตร. พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีต รองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผบ.รพ.ราชทัณฑ์ น.ส.รวมทิพย์ สุภานนท์ นพ.รพ.ราชทัณฑ์ เข้าชี้แจง

รัฐบาลปลื้มไทยเนื้อหอมแห่ลงทุน

ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากตัวเลขนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นช่วงนี้ แสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยที่ได้รับความเชื่อมั่น พบ ว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. นักลงทุนต่างชาติเข้ามา 636 ราย รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว พบว่าปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง นักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น โดยมีปัจจัยสำคัญส่งเสริมคือธุรกิจแพลตฟอร์ม และซอฟต์แวร์ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ มีสัดส่วนการลงทุนมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย

จับโกหกแก๊งปั่นไทยเสียเกาะกูด

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการปั่นกระแสไทยจะเสียเกาะกูด เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู 44 ว่า การเรียกร้องให้ไทยยกเลิกเอ็มโอยู 44 ถ้าทำให้ไทยเสียหายจริง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศขณะนั้น จะไปลงนามเอ็มโอยู 44 ได้อย่างไร มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 3 เรื่อง คือ 1.กล่าวหาเอ็มโอยู 44 ทำให้เสียเกาะกูด ซึ่งไม่จริง เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ไม่มีใครยกให้กัมพูชาได้ 2.กล่าวหาเอ็มโอยู 44 ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ ทำให้ไทยเสียสิทธิ์ทางทะเล ก็ไม่จริง เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก เนื้อหาข้อ 5 เอ็มโอยู 44 ระบุชัดเจนตราบใดยังไม่มีข้อตกลงการแบ่งเขตพื้นที่ทางทะเล ถือว่าการเจรจาเอ็มโอยู 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของไทยและกัมพูชา 3.กล่าวหารัฐบาลนี้มุ่งเจรจากัมพูชาเพื่อขุดน้ำมันและแก๊ส ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน โดยไม่สนใจพื้นที่ทางทะเลนั้น ไร้มูลความจริง เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามกรอบเอ็มโอยู 44 เพราะการเจรจาแบ่งพื้นที่ทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วมต้องทำคู่กันไป แยกจากกันไม่ได้ รัฐบาลที่ผ่านมาก็เจรจาโดยใช้เอ็มโอยู 44 ไม่เห็นประท้วง คนไทยควรได้ทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความเห็นไม่ถูกต้อง คนบิดเบือนใส่ร้ายขอให้ยุติได้แล้ว

“อิ๊งค์” ได้นักการเมืองเด่นฝั่งรัฐบาล

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,136 คน เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือน ต.ค.2567” พบว่ากลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือน ต.ค. เฉลี่ย 5.01 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. ที่ได้ 4.80 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.34 คะแนน ส่วนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือการแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.58 คะแนน ขณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน ร้อยละ 52.81 ระบุเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองลงมาร้อยละ 26.40 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน ร้อยละ 37.80 ระบุเป็นนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองลงมาร้อยละ 34.36 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบคือมาตรการช่วยน้ำท่วม ส่วนผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบ คือการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

นายกฯขอบคุณลุยงานหนักต่อ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของสวนดุสิตโพลดัชนีการเมืองไทย ที่ประชาชนยกให้ น.ส.แพทองธารเป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน ต.ค.ว่า นายกฯขอบคุณประชาชนที่ให้ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของนายกฯและรัฐบาล ยืนยันว่ายังต้องเร่งทำงานหนักอีกมาก เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศที่สั่งสมมานานกว่า 10 ปีในทุกๆด้าน ตลอดช่วงปีเศษรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน มุ่งเน้นการตอบสนองปัญหาประชาชนอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นโครงการแจกเงินหมื่น การเข้าช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ร้อนประชาชนยามเกิดภัยพิบัติในทุกองคาพยพ หรือการแก้ไขปัญหาเชิงรุก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการปราบปรามยาเสพติดที่เป็นรูปธรรม

“อนุทิน” สักการะพระธาตุแช่แห้ง

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย พร้อมนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน มีนายบัณฑูร ล่ำซำ รองประธานกรรมการมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระ กนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำชม โอกาสนี้นายอนุทินนำคณะเข้าสักการะพระธาตุแช่แห้ง และพระเจ้าอุ่นเมือง พระประธานประจำพระวิหารวัดพระธาตุแช่แห้ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน พร้อมมอบแนวทางให้ ผวจ.น่าน หยิบจุดแข็งทุนทางศิลปวัฒนธรรม อาหาร ธรรมชาติ ดึงคนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ให้เม็ดเงินกระจายลงไปถึงชุมชนมากที่สุด สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว

“ชาญชัย” จี้ยกเลิกสัญญาโทลล์เวย์

อีกเรื่องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจากกรณีที่บริษัททางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ (DMT) เตรียมขึ้นค่าผ่านทางในวันที่ 22 ธ.ค. ขอคัดค้านผ่านไปยังรัฐบาล เพราะสัญญาที่ทำกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ควรต้องถูกยกเลิก เนื่องจากมีการทำผิดสัญญากับรัฐบาลไทย กรณีไม่ยอมถอนคำฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศสู้คดีความกับรัฐบาลไทย หากกรมทางหลวงที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและ รมว.คมนาคม กำกับดูแล ยังไม่ยอมแก้ปัญหาดังกล่าว ขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ เก็บใบเสร็จเอาไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานนำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจในข้อหากระทำผิดกฎหมายฟอกเงินมาตรา 3 (3) ฐานหลอกลวงประชาชน เพราะสัญญาฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตนจะเป็นคนนำไปฟ้องต่อศาลให้เป็นคดีตัวอย่าง เพราะถือว่าผู้ที่ขึ้นใช้ผ่านทางนี้เป็นผู้เสียหายถูกหลอกลวง

คนเด่น–ดังร่วมสมัคร ป.ป.ช.เพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่า จากการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทนตำแหน่งที่ว่างจำนวน 3 คน มาตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. ล่าสุดมีผู้สมัครแล้ว 28 คน มีบุคคลที่น่าสนใจ อาทิ นายปรีชา พงษ์พานิช อัยการอาวุโส อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 3 นายขจรเดช เจนวัฒนานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 7 นายสิริชัย สุธีวีระขจร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ภาค 2 นายชัยยศ ปัญจบุตรชัย อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญามีนบุรี นายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ นายเริงศักดิ์ วิริยะชัยวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง อดีตที่ปรึกษาพิเศษ น.ส.อินทิรา ฉิวรัมย์ รองประธานศาลอุทธรณ์ นายสุธน จารุพันธ์ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรจิต พัฒนสาร อดีตรองอัยการสูงสุด นางภัทรา โชว์ศรี อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. โดยจะเปิดรับถึงวันที่ 4 พ.ย. เป็นวันสุดท้าย

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่