ติดเครื่องเร่งตรวจสอบรัฐบาลทุกมิติ

หลังตัดสินใจทำหน้าที่ฝ่ายค้านเต็มตัว

ฝ่ายค้านป้ายแดงส่งสัญญาณถึงรัฐบาล หลังจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมาก็ถืออำนาจรัฐมาตลอด เมื่อเล่นบทฝ่ายค้านก็ขอทำหน้าที่เต็มที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกถึงความมุ่งมั่นของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. คณะกรรมการบริหารพรรค และ 20 สส.ที่รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว

ต่างกับ สส.อีก 20 คน ที่ตัวอยู่พรรค พปชร. ใจไปอยู่พรรคอื่น ยังอยู่ในขั้นตอนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้สะเด็ดน้ำก่อน ถึงเห็นทิศทางในขั้นตอนต่อไปควรดำเนินการอย่างไร

แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่มีผลต่อการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ขอทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ไม่ได้

ทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อรอเสียบเป็นรัฐบาล ขนาดเพิ่งเริ่มต้นทำหน้าที่ สส. และคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร.ยังคึกคักขนาดนี้

ขอทำหน้าที่เต็มที่เฝ้าบ้านให้ประชาชน

เห็นได้จากเขย่า “ดิ ไอคอนภาคการเมือง” หวังให้รัฐบาลสร้างความกระจ่างถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังโดยเร็ว อย่างน้อยควรย้อนอดีตไป 2 ปี ลากมาถึงปัจจุบันเพื่อยุติปัญหา และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

พรรค พปชร.เปิดเกมให้รัฐบาลตรวจสอบและสะสางปัญหา ดิ ไอคอน ตามหาตัวเทวดา พร้อมๆกับเปิดประเด็นให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู 44 นายสนธิรัตน์ บอกว่า พรรค พปชร.สนใจตั้งแต่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ภายใต้นโยบายด้านพลังงานที่จะทำให้ราคาถูก จำเป็นต้องเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

โดยตั้งให้ผมที่เคยเป็น รมว.พลังงาน เป็นหัวหน้าทีมงานศึกษาข้อมูลยกเลิกเอ็มโอยู 44 ข้อมูลเชิงลึกที่มีอยู่ในมือก็เท่าๆกับข้อมูลในมือของรัฐบาล

ยืนยันเกาะกูดเป็นพื้นที่ของประเทศไทย

...

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสใจความว่า “เกาะกูดเป็นพื้นที่ของแผ่นดินไทย” พรรค พปชร. ขอทำทุกวิถีทาง 

รักษาไว้ซึ่งแผ่นดินไทย โดยไม่ยอมเสียผืนแผ่นดินไทยเป็นอันขาด

แต่ “ปัญหาเขตแดน” มันสะสมจนมาถึงทุกวันนี้ ต่างฝ่ายต่างขีดเส้นคนละเส้นมาตลอด และมาตรการทำให้ราคาพลังงานถูกต้องไข

กุญแจในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีปัญหาทับซ้อนอยู่หลายมิติ

ต้องยึดหลักสำคัญ คืออธิปไตยประเทศ ข้อตกลงพรมแดนจริงๆเป็นหัวใจหลักที่พรรค พปชร.หยิบยกขึ้นมาชี้ให้รัฐบาลได้ตระหนัก หากเริ่มต้นเจรจาอะไรต้องเคลียร์ให้ชัดเจนเขตแดนประเทศไทย

“ขอเสนอยกเลิกเอ็มโอยู 44 เพื่อเริ่มต้นวางกรอบเจรจาใหม่ หากไม่เดินตามแนวนี้รับรองรัฐบาลนี้อยู่ครบวาระก็เจรจาไม่สำเร็จ เพราะเอ็มโอยูไม่สามารถเดินไปสู่ข้อยุติของการตกลงได้

ยิ่งเจรจาช้า ยิ่งไม่มั่นคงในด้านพลังงาน โดยเฉพาะมีผลให้แก๊สมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ  เพราะแก๊สในอ่าวไทยเหลือใช้ไม่ถึง 10 ปี ต้องนำเข้า มันคือระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ภายใต้การเจรจา

หากเปิดเจรจาโดยไม่ยกเลิกเอ็มโอยูก่อน ก็เดินต่อไปไม่ได้ คนรักชาติไม่ยอมแน่ ห่วงเกาะกูดหายไป”

เจรจาโดยเดินตามกรอบเอ็มโอยู 44 เกาะกูดหายไปแค่ครึ่งเกาะหรือทั้งเกาะ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค พปชร. และทีมงานศึกษาข้อมูลยกเลิกเอ็มโอยู 44 ที่เกาะติด

การขุดน้ำมันในทะเลมาตั้งแต่ปี 2551 มีข้อมูลเต็มหน้าตักบอกว่า ยืนยันหายไปครึ่งเกาะ

เพราะก่อนมีเอ็มโอยู 44 ไม่มีพื้นที่ทับซ้อน พอกัมพูชาประกาศเส้นปี 2515 ลากเส้น

จากหลักเขตที่ 73 (บริเวณบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด) ขีดเส้นเกินสิทธิกฎหมายทางทะเล

แต่หลักฐานตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส (สยามยกสิทธิการปกครองได้แก่ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณให้ฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนเมืองด่านซ้าย เมืองตราด เกาะทั้งหลายลงไปจนถึงเกาะกูดให้สยาม ต้องมี 12 ไมล์ทะเล ที่สำคัญทำให้น่านน้ำไทยใน จ.ตราดหายไปตามแผนที่ของกัมพูชาด้วย

แต่กลับเอาเส้นที่ขีดเกินสิทธิตามกฎหมายมาอยู่ในเอ็มโอยู 44 เจรจาไปไทยเสียเปรียบทุกประตู ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู 44 แล้วไปเริ่มใช้โมเดลไทย-มาเลเซีย และไทย-เวียดนาม ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายทะเล ถึงไม่มีเสียงคัดค้านใดๆเกิดขึ้น

“มีเอ็มโอยูเท่ากับรับรองทางอ้อมในเส้นที่กัมพูชาประกาศ แม้ไม่ยอมรับเส้น แต่ยอมรับพื้นที่ทับซ้อน เป็นการยอมรับเส้นทางอ้อม

ก่อนมีเอ็มโอยู ไทยเป็นฝ่ายถูก พอเกิดปั๊ง ไทยเสียเปรียบทันที จับเกาะกูดครึ่งล่าง น่านน้ำ จ.ตราด เป็นตัวประกัน เจรจาไม่ได้เริ่มต้นที่จุดยืนเท่ากัน

พื้นที่ทับซ้อนจริงคาดไม่เกิน 6–7 พัน ตร.กม. ไม่ใช่กว่า 2.6 ตร.กม. ตามที่โอเวอร์เคลมไปไกลมาก”

ไม่ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เปิดเจรจาไปประเทศไทยเสียหายอย่างไร  ม.ล.กรกสิวัฒน์ บอกว่า แผนที่แนบท้ายเอ็มโอยู 44 คือตัวปัญหา เป็นสิ่งที่กัมพูชาอ้างเกิดสิทธิตามกฎหมายทะเล สงสัยไปยอมในกรอบเอ็มโอยูได้อย่างไร

ขอย้ำว่ารัฐบาลควรยกเลิกเอ็มโอยู 44 และทำตามโมเดลไทย-มาเลเซีย เดินตามกฎหมายทะเลก่อนเริ่มทำเอ็มโอยู ทำตามนี้ปุ๊บจบง่ายมาก

สำนักข่าวต่างประเทศตั้งข้อสังเกต มีระดับผู้นำไทยบางคนหารือลับประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับผู้นำกัมพูชา พรรค พปชร.ถึงเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ บอกว่า คาดพูดคุยนอกรอบมาหลายครั้ง โดยมีฝ่ายตะวันตกอยู่เบื้องหลังผลักดันตามรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ

เพราะเขามีหีบสมบัติในอ่าวไทย แต่ยังเปิดหีบไม่ได้จึงอยากใช้ช่องทางนี้ช่วยเปิดหีบสมบัติดังกล่าว ตรงนี้ควรระมัดระวังอย่างสูง

ผลประโยชน์ชาติ–บริษัท–ประชาชนต้องสมดุล

กัมพูชาถมพื้นที่ทะเลหวังผลรุกคืบเขตพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ม.ล.กรกสิวัฒน์ บอกว่า กฎสหประชาชาติระบุชัดเจน ถ้าทำเขื่อนใดที่ติดกับแผ่นดิน ให้นับเหมือนเป็นแผ่นดิน ทำให้การวัดเส้นที่ยิงออกมาไกลขึ้นเยอะเลย

สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประท้วงไป 2 ครั้ง กัมพูชายังไม่รื้อ มีผลต่อการวัด 12 ไมล์ทะเล รัฐบาลไทยเงียบกริบ ไม่พูดถึงตรงนี้เลย

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเป็นหนึ่งใน 6 ประเด็นที่มีการยืนคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญชี้เอาผิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และยุบพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันภาคประชาชนเริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นนี้พร้อมกับพรรค พปชร. หวังผลถึงขั้นล้มรัฐบาลชุดนี้  นายสนธิรัตน์ บอกว่า สิ่งเหล่านั้นเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

พรรค พปชร.ทำหน้าที่ยืนอยู่บนฐานข้อมูล บังเอิญเป็นประเด็นร้อนที่ทุกภาคส่วน ให้ความสนใจ ไม่ได้ตั้งใจล้มรัฐบาล แค่ต้องการรัฐบาลให้ตอบข้อสงสัยทั้งหมดบนข้อมูลจริงที่รัฐบาลตั้งใจเดินหน้าตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเป็นอย่างไร รัฐบาลแจงให้กระจ่างในข้อสงสัยทั้งหมดบนหลักที่โปร่งใส หยุดกระแสชาตินิยม

เมื่อรัฐบาลไม่มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ สังคมถึงระแวงต่อเรื่องนี้ ยิ่งภาคส่วนต่างๆระแวงรัฐบาลมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องสร้างความโปร่งใส  รัฐบาลจะล้มหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่เกี่ยวกับพรรค พปชร.

ถูกตั้งข้อสังเกตเกิดจากแรงแค้นที่ถูกขับออกจากการร่วมรัฐบาล ถึงลงมือตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะนายทักษิณ ชินวัตร สนิทสนมเป็นพิเศษกับอดีตผู้นำกัมพูชา  นายสนธิรัตน์ บอกว่า การเมืองไม่มีรัก ไม่มีแค้น มันเป็นไปตามกลไกการเมืองที่ทำตามหน้าที่และภารกิจ ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ยิ่งมีภาพความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษ รัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯปฏิเสธไม่ได้ต้องชี้แจง

ทั้งหมดเป็นภารกิจเริ่มตรวจสอบรัฐบาล ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาก็ต้องเตรียมนโยบายทางการเมืองที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภูมิภาค เริ่มภาคอีสานก่อน รวมถึงเตรียมพร้อมพลิกบทบาทฝ่ายค้านในสภาช่วงเปิดสมัยประชุมด้วย

ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านเต็มที่รักษาผลประโยชน์ประชาชน

ใต้ยุทธศาสตร์นิติสงครามคู่ขนานตรวจสอบเข้มข้น.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม