ศปช. เตือนประชาชนภาคใต้ เฝ้าระวังฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ช่วง 3-6 พ.ย.นี้ ด้านเชียงใหม่ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงประเพณีเดือนยี่เป็ง 2567
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 เมื่อเวลา 11.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ ช่วงวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2567 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านในบริเวณดังกล่าว ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
- วันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2567 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และกระบี่
- วันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2567 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ทางด้านกรมทรัพยากรธรณี ประกาศพื้นที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ประกอบกับมีพื้นที่คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มล่วงหน้า โดยเฉพาะในบริเวณภาคกลาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล
...
ขณะที่กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 ลงพื้นที่กำจัดวัชพืชผักตบชวา บริเวณคลองระบาย 4 ขวาสุพรรณ 1 ตำบลนางลือ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ สำนักงานชลประทานที่ 15 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง บริเวณท่อระบายน้ำ (ทรบ.) บางเหลง หมู่ที่ 9 ตำบลท้องลำเจียก อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 16 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 5 เครื่อง บริเวณหมู่ที่ 1, 3, 4 ตำบลกระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา และสำนักงานชลประทานที่ 16 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 1 เครื่อง บริเวณใต้สะพานคลองหวะ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุอุทกภัยในพื้นที่
ในตอนท้าย นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ปล่อยขบวนรถน้ำและกำลังพลออกจากลานประตูท่าแพไปยังจุดต่างๆ แบ่งเป็น 5 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางที่ 1 ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ ถึงลานประตูท่าแพ
- เส้นทางที่ 2 ตั้งแต่ดับเพลิงกู้ภัยทางน้ำ ถึงสำนักงานการท่องเที่ยวเทศบาลนครเชียงใหม่
- เส้นทางที่ 3 ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ ถึงสวนสุขภาพบ้านเด่น
- เส้นทางที่ 4 ตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟ ถึงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
- เส้นทางที่ 5 ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ ถึงเชิงสะพาน ร.9 ฝั่งตะวันออก
ทั้งนี้ เพื่อทำความสะอาดเมือง คืนความสวยงามให้แก่เมืองเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวช่วงการจัดงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2567 ในวันที่ 14-17 พฤศจิกายนนี้.