วันจันทร์นี้แล้วสินะ ที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) จะนำเสนอชื่อผู้เหมาะสมที่ได้รับการสรรหาให้เข้าไปทำหน้าที่คุมบังเหียน ธปท.

กรณีข้างต้นนี้ นัยว่ามีอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติถึง 4 คน รวมนักวิชาการต่างๆ อีกราว 250 คน ทำหนังสือคัดค้านไม่ให้เอาคนจากพรรคการเมืองเข้าไปเพราะกลัวจะเกิดการครอบงำ ทำลายเสถียรภาพ และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะยาวด้วย

อยากถามจริงๆ ว่าที่ผ่านมา ใครไปครอบงำแบงก์ชาติได้ ความอิสระที่อ้างถึงเป็นประจำน่ะ เอาจริงๆ มันช่างไร้ซึ่งขอบเขต วัดด้วย KPI หรือมาตรฐานใดๆ ไม่ได้ แม้แต่กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลแบงก์ชาติ ยังแตะไม่ได้

เฉพาะรัฐบาลนี้ กว่าจะขอให้แบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยังต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ต้องสงบปากสงบคำก่อน จนกว่าแบงก์ชาติจะเห็นความจำเป็น ก็จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเอง

ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอยกกรณี “หม่อมอุ๋ย 100 จุด” มาเล่าให้ฟัง (100 ปี ก็ยังมีคนพูดถึงอยู่นะ)

ในฐานะเป็น 1 ใน 4 ผู้คัดค้าน หม่อมอุ๋ย หรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้เรียกหญิงเหล็กอย่าง ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เจ้าของวาทกรรม “หายนะแน่ถ้าให้การเมืองเข้ามาคุมแบงก์ชาติ” ข้อความนี้ ธาริษา พูดถึงใคร...หม่อมอุ๋ย หรือ นักการเมืองคนไหน

เข้าร่วมหารือกับ หม่อมอุ๋ย ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ให้หาทางรับมือกับการไหลเข้ามาของเงินทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเงินทุนที่หลั่งไหลเข้ามามากๆ ยังทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย

ได้ข้อสรุป จึงมอบหมายให้ ธาริษา ออกกฎที่เรียกว่า Capital Controls ควบคุมเงินทุนไหลเข้า กล่าวคือ เงินทุนที่ไหลเข้ามา 100 ให้กันสำรองไว้ 30% ที่เหลืออีก 70% จะเอาไปซื้ออะไรก็ได้...

...

แต่ทันทีที่ หญิงเหล็ก ของ หม่อมอุ๋ย ประกาศนโยบายนี้ออกมา ต่างชาติก็เทกระจาดหุ้นทิ้งทั้งแผง แดงเถือกทั้งจอ มีผลให้ดัชนีรูดลง 108 จุด มูลค่าตลาด ณ วันที่ 19 ธ.ค. 49 หายไปสิริรวม 800,000 ล้านบาท

นี่เป็นอีกบทเรียนมีค่าครั้งสำคัญ หลังจากที่แบงก์ชาตินำเงินทุนสำรองที่มีอยู่น้อยนิดไปต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินบาทจนหมดหน้าตัก

เรียกว่า เกลี้ยงพอร์ตจนคนไทยน้ำตานองทั้งแผ่นดิน เพราะถูกฝรั่งแปลงหนี้เป็นทุน ยึดกิจการไปหมด เงินฝากถูกแช่ไว้ 10 ปี ผู้คนโดยเฉพาะ “มนุษย์ทองคำ” ตกงานกันเป็นทิวแถวจากคำสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์

ถามอีกที ความผิดพลาดแบบนี้ ใครสั่ง มีรัฐบาลไหนเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยไหม? ...ไม่มีใช่ไหม!

การที่ไม่ยอมให้ฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลเข้าไปร่วมรับรู้กับการตัดสินใจใดๆ รวมถึงการทำงานของแบงก์ชาติเลย ทั้งๆ ที่กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติต่างก็มีหน้าที่ต้องร่วมมือกันในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยกัน...มันคือความโปร่งใสหรือไม่?

ยังมีอีกเรื่องที่กังขาคาใจคือ หลังจากมีการร่าง พ.ร.บ. แก้หนี้ FIDF จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท ที่เกิดจากแบงก์ชาติ ด้วยการโยนดอกเบี้ยให้กระทรวงการคลังรับไป ส่วนเงินต้น แบงก์ชาติสัญญาจะรับผิดชอบเอง

เอาเข้าจริงๆ ในขณะที่กระทรวงการคลังจ่ายดอกเบี้ยมาทุกปี แบงก์ชาติกลับไม่จ่ายเงินต้นเลย คือ เงินต้นไม่ลด ดอกจะลดได้อย่างไร เพราะแบงก์ชาติเขียนกฎไว้ว่า ถ้าขาดทุน ไม่ต้องจ่ายหนี้ที่มี...อ้าว!

เพิ่มมาในสมัยรัฐบาล กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกฯ และ รมว.คลัง เขาได้ออก พ.ร.ก. แก้ไขหนี้ FIDF ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 40 กำหนดให้แบงก์พาณิชย์นำส่งเงิน 0.46% ของเงินฝาก มาชำระหนี้เงินต้นเสีย จนบัดป่านนี้ หนี้ FIDF ที่แบงก์ชาติก่อไว้ จึงลดลงเหลือ 570,000 ล้านบาท ถ้าปล่อยไว้ ชาติหน้าก็ไม่หมด

เอาละทีนี้มาดูกันว่า แคนดิเดตที่เข้าชิงเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 3 คนมีใครกันบ้าง

เอาฝ่ายที่แบงก์ชาติเสนอก่อนดีกว่า

1. นายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นข้าราชการกระทรวงการคลังมาตลอด เริ่มเข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษารมช.คมนาคม สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม จากนั้นเป็น รองเลขาธิการ กทช. รองผอ.สคร. อธิบดีกรมศุลกากร แล้วเหาะไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงานในยุค “ลุงตู่” ปัจจุบันอายุ 62 ปี

2. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่ปรึกษานายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา คณะกรรมการกฤษฎีกา อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และนายกสภา ม.ธรรมศาสตร์ ล่าสุด ดร.สุรพล เป็นตัวแทนพรรคก้าวไกลในการยื่นคำร้องขอไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล อายุ 64 ปี

ส่วนฝ่ายที่รัฐบาลเสนอ ได้แก่

3. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการสำนักงานเลขาธิการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร เป็นรองนายกฯ และ รมว.คลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นที่ประธานที่ปรึกษาอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อายุ 66 ปี

กระบองเพชร