“ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ระดมพล พาสส.พรรคประชาชนฟื้นฟูเชียงราย อึ้งพบชาวบ้าน “น้ำลดหนี้ผุด” เข้าไม่ถึงเงินทุนตั้งตัวฟื้นฟูกิจการ ต้องกู้เงินนอกระบบร้อยละ 20 ต่อเดือน

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ จ.เชียงราย ผู้แทนราษฎรและคณะทำงานจังหวัดพรรคประชาชน ร่วมกับกลุ่มประชาชนอาสา เข้าทำความสะอาด เก็บกวาดดินโคลน และฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประชาชนอาสา กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินการของทางรัฐบาลว่า ต้องขอขอบคุณหน่วยงานและภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูและคืนพื้นที่ โดยเฉพาะถนนหนทางและโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ภายในเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนอาคารบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนยังมีกลุ่มที่ตกหล่นไม่ได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนหลังน้ำลดอยู่ จึงเป็นการเข้าช่วยเหลือโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคมและภาคเอกชนต่อไป

โดยในวันนี้ศูนย์ประชาชนอาสาได้ลงพื้นที่ไปฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนที่ อ.เมือง และ อ.แม่สาย ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีการสนธิกำลังกับมูลนิธิกระจกเงาเพื่อช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนโดยการขนย้ายดินโคลนที่ติดค้างจำนวนมากออกมาให้สำเร็จ

...

ในส่วนของมาตรการเยียวยาประชาชน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและรับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนชาวเชียงราย พบว่าส่วนใหญ่ได้รับเงินเยียวยาค่าล้างบ้านจากทางรัฐบาล 9,000 บาทเรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดปัญหาการฟื้นฟูซ่อมแซมอาคารสถานที่และกิจการธุรกิจการค้า ที่อาจต้องใช้เงินทุนในการซ่อมแซม สั่งซื้อวัตถุดิบ และเสริมสภาพคล่องในการจ่ายต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งเงินในส่วนนี้อาจมีตั้งแต่ขั้นต่ำ 10,000 บาท สำหรับร้านก๋วยเตี๋ยว ไปจนถึงหลักแสนหลักล้านบาทในบางธุรกิจ ทำให้หลายกิจการยังไม่สามารถกลับมาเปิดทำการได้ปกติ ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวภาคเหนือแล้วก็ตาม

แม้ว่าภาครัฐจะประกาศว่ามีมาตรการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan ผ่านธนาคารออมสิน แต่กลับพบว่าประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ประกอบอาชีพขายของ ขายกับข้าว ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดย่อม ไม่รู้วิธีการหรือเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินจากนอกระบบซึ่งมีต้นทุนค่าดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน

“จากการทราบข้อมูลในส่วนนี้ ที่ได้จากการลงพื้นที่หน้างาน พวกเรายังมีทีมสำรวจเดินพูดคุยเก็บข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม และจะจัดทำข้อเสนอไปยังสถาบันการเงินของรัฐและรัฐบาล ให้มีมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนเผชิญวิกฤตซ้ำซ้อน นั่นคือวิกฤตน้ำท่วมและหนี้สิน จนกลายเป็นสุภาษิตใหม่ว่า น้ำลดหนี้ผุด” นายณัฐพงษ์กล่าว