“อุตตม-สนธิรัตน์” ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล เศรษฐกิจไทยอาจก้าวสู่จุดพลิกผัน แนะแก้ 2 โจทย์ใหญ่ เร่งฟื้นเศรษฐกิจ “แก้หนี้ครัวเรือน-กระตุ้นขีดความสามารถแข่งขัน” ชี้ เศรษฐกิจจะเติบโตต้องมีวินัยการคลัง สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 เวลา 11.00 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแถลงข่าวส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลให้ตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่จุดพลิกผัน ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก เน้นย้ำรัฐบาลต้องเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับมา แก้หนี้อย่างจริงจัง ลดค่าใช้จ่ายพลังงาน พร้อมยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

โดย นายอุตตม ชี้ว่าเศรษฐกิจเพื่อนบ้านอาเซียนเติบโตและฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เช่น เวียดนามโต 6.1% ฟิลิปปินส์ 6.0% อินโดนีเซีย 5.0% มาเลเซีย 4.9% และสิงคโปร์ 3.0% แต่ประเทศไทยยังคงฟื้นตัวช้าและโตต่ำเพียง 2.4% (World Bank) โตสูงกว่าพม่า (1%) ประเทศเดียวเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับโพลสำรวจ ม.หอการค้า (ล่าสุด ก.ย.67) ที่พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 18 เดือน (เหลือ 48.8%) สะท้อนความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้แจกเงิน 10,000 บาท

...

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศได้ เศรษฐกิจไทยยิ่งฟื้นตัวช้า การเติบโตที่ไม่เพียงพอจะทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้าและดึงดูดเงินลงทุน รวมทั้งพัฒนาประเทศ และล่าสุด IMF คาดปี 2571 ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามและฟิลิปปินส์จะแซงไทย ขนาดเศรษฐกิจไทยจะหล่นเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน เหตุเพื่อนบ้านโตสูงกว่าไทยถึง 2 เท่าทุกปี ขณะที่ SCB EIC เตือนไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง ทั้งหมดสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วน ต้องฟื้นคืน พร้อมปฏิรูประบบเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมี 2 โจทย์ใหญ่ในการแก้เศรษฐกิจ คือ 1.เร่งฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว แก้หนี้อย่างจริงจัง โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก แตะระดับ 16.32 ล้านล้านบาท หรือ 89.61% ของ GDP รัฐบาลประกาศแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรก โดยรัฐบาลต้องปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้สามารถชำระได้จริง พร้อมเพิ่มทักษะ สร้างโอกาสหารายได้ และต้องเริ่มจากฐานรากอย่างเท่าเทียม ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ ตนเห็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในสามเรื่อง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง อยากใช้โอกาสนี้ให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อจะได้ตอบสนองต่อความคาดหวังของพี่น้องประชาชนให้ทันสถานการณ์ยิ่งขึ้น

“รัฐบาลเพื่อไทยได้เคยประกาศนโยบายในช่วงหาเสียงไว้ว่า จะลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาก๊าซหุงต้ม เป็นชุดนโยบายพลังงานที่ประกาศออกไปเพื่ออยากจะได้คะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว มีอำนาจแล้ว ต้องถามว่า ได้ลงมือขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ อีกทั้งก็ไม่ได้กำชับให้กระทรวงพลังงานดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน หรือเป็นเพียงการอุดหนุนระยะสั้น แต่ปัญหาโครงสร้างยังมีความไม่ชัดเจน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือการจะเปิดประมูลไฟฟ้ารอบใหม่ ที่อาจมีความไม่โปร่งใสจนเกิดการฟ้องร้องเหมือนการประมูลในรอบที่ผ่านมา เช่น การเน้นคุณสมบัติผู้สมัครและความพร้อมของโครงการที่น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้ง 3 มิติ มากกว่าการ Fix ราคา ซึ่งจะทำให้การเปิดประมูลนำไปสู่ราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกลง การเร่งประมูลเพื่อเป้าหมายพลังงานสีเขียวรองรับอนาคต แต่ในแผน PDP โดยรวมปริมาณเกินกว่าความต้องการใช้หรือไม่ และภาระจะตกต่อประชาชนแค่ไหน การประมูลควรกำหนดราคาควบคู่ไปกับประเภทของเทคโนโลยีที่จะผลิตไฟฟ้า และควรมีทิศทางราคาที่ถูกลงเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ มีต้นทุนถูกลง จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และการประมูลต้องโปร่งใส ไม่สร้างความกังขาให้สังคม

“ในการแถลงข่าวครั้งที่แล้ว ตนได้วิจารณ์ถึงนโยบายเติมเงินในบัตรประชารัฐ 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นการทำงานไม่ตรงปกกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้เคยประกาศไว้เมื่อตอนหาเสียง เมื่อแจกเงิน 1 หมื่นบาท ในเดือนกันยายน ซึ่งนิด้าโพลบอกว่า คนเอาเงินไปใช้หนี้ ไปใช้จ่ายทั่วไป รวมถึงเป็นเงินเก็บ จึงทำให้พายุหมุนทางเศรษฐกิจไม่เกิด เงินไม่ถูกใช้เป็นทอดๆ ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ก็ยังไม่มีความชัดเจน วันนี้จะเห็นว่าสองนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยที่ประกาศไว้ ทั้งราคาพลังงานและดิจิตอลวอลเลตยังไม่ตรงปก ไม่สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า หลายสัปดาห์ก่อนได้เห็นรัฐบาลดำเนินโครงการที่เป็นภาคต่อของโครงการแจกเงิน 1 หมื่น ชื่อโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประกาศว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 110,000 ล้านบาท ตนได้ไปตรวจสอบตัวเลขของโครงการนี้ รู้สึกว่าเป็นการประเมินที่เกินจริง เขาประเมินกันว่า กลุ่มที่ได้รับเงิน 1 หมื่นบาท น่าจะนำเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้าราคาถูก ประมาณคนละ 5 พันกว่าบาท ซึ่งเป็นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องแต่งกาย เมื่อนำเงิน 5 พันกว่าบาท คูณด้วยจำนวนประชาชนประมาณ 14 ล้านคน ก็จะเป็นเงินประมาณ 78,000 ล้านบาท การประเมินตัวเลขแบบนี้ต้องทบทวน เพราะเหมารวมเกินไป รัฐบาลแน่ใจหรือไม่ว่า ประชาชนใช้เงินกับกิจกรรมอะไร ใช้ผ่านการจัดกิจกรรมของรัฐบาลหรือไม่ วันนี้ รัฐบาลก็ตอบคำถามนี้ได้ไม่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาลอาจไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่ต้องการ

นายอุตตม กล่าวต่อว่า โจทย์ที่ 2 คือ การเร่งยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการเร่งลงทุนเพิ่มทักษะคนไทย สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากพร้อมยกระดับศักยภาพ SME ส่งเสริมอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบภาษีอากรและงบประมาณ พร้อมสังคายนากฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพราะการส่งออกไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยอดส่งออกของไทย 9 เดือนแรก ขยายตัว 3.9% ส่วนเวียดนามและมาเลเซียพุ่ง 15.3% และ 8.4% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค นอกจากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ต้องดู “เม็ดเงินลงทุนจริง” ในระบบเศรษฐกิจ

“การจัดงบประมาณเพื่อฟื้นเศรษฐกิจต้องคุ้มค่า ลำดับความสำคัญ การเติบโตต้องควบคู่กับวินัยการคลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากภายในและเรียกคืนความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟุบลงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในเวทีโลก” นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวข้องกับปากท้องของคนเป็นวงกว้างคือ พี่น้องผู้ประกอบการ SME ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ตรงนี้ ขอฝากโจทย์ให้รัฐบาล ทบทวนว่า ได้ออกมาตรการปกป้องต่อผลกระทบที่มีต่อ SME อย่างไร รวมทั้งเราจะมีมาตรการชัดเจนที่จะปกป้อง SME อย่างอินโดนีเซียหรือไม่ ที่เขาดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือส่งเสริมพี่น้อง SMEs ชาวไทย ยังไม่เห็นความชัดเจนดีพอ เป็นคำถามและโจทย์การบริหารประเทศที่อยากฝากให้กับรัฐบาล