โหมงานจนเครื่องรวน ต้องเบรกซ่อมร่างแป๊บ
สภาพอิดโรย “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยื่นใบลาป่วย ยกเลิกภารกิจ 1 วัน จากอาการหลอดลมอักเสบ เสียงแหบแห้ง ให้น้ำเกลือเติมพลังแล้ว แต่เอาไม่อยู่ ต้องหยุดพักบ้าง
ภายใต้สถานการณ์ภาคบังคับ พักนานไม่ได้ ตามโปรแกรมสำคัญที่รออยู่คือ การแก้ปัญหาโจทย์เศรษฐกิจ ภารกิจเร่งด่วน
อย่างที่เพิ่งเห็นช็อตสำคัญ เปิดทำเนียบรัฐบาลหารือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ดึงหัวขบวนจากหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมวางแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้วิกฤติปากท้องประชาชน
ตีคู่ไปกับที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง หารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายการทำงานให้เดินไปทิศทางเดียวกัน ทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ นโยบายลดดอกเบี้ย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการลงทุน ร่วมด้วยช่วยกัน พลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศอีกทาง
หัวหมุน มือเป็นระวิงทุกฝ่าย โหมปั่นผลงานกู้เศรษฐกิจ มาเสริมภูมิคุ้มกัน เป็นหลักประกันให้รัฐบาลอยู่ยาว ในยามที่พายุการเมืองกำลังก่อตัวผสมโรง ร่วมเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล
ตามร่องรอยซ่อนกลทางการเมือง มีการสร้างเงื่อนไขต่อรอง เปิดเกมวัดพลังกันต่อเนื่อง
ตัวอย่างชัดๆ กรณีขับเคลื่อนการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เกมที่พรรคเพื่อไทยตกที่นั่งเสียเปรียบ เป็นเสียงข้างมากแต่คุมเกมไม่ได้ ต้องใส่เกียร์ถอยเล่นตามน้ำไปกับพรรคร่วมรัฐบาล ไม่นิรโทษกรรมความผิด มาตรา 112
สถานการณ์ตกเป็นรอง คอยไล่แก้เกม ประนอมดุลอำนาจเพื่อนร่วมรัฐบาลตลอด
แม้กระทั่งกรณีร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ต้องตั้ง กมธ. ร่วม สส.-สว. มาเจรจาปลดล็อกหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ก็ยังพลาดท่า เสียเก้าอี้ประธาน กมธ.ร่วม ให้ฝ่าย สว.
...
สัญญาณแปร่งๆ ผิดปกติในฝ่ายเดียวกันเอง ทั้งเสียง สส.มาไม่ครบ 14 คน ในวันโหวตเลือกประธาน กมธ. การที่ สส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนลงคะแนนสนับสนุนยกเก้าอี้สำคัญให้ฝั่งวุฒิสภา หรือบางคนงดออกเสียง
ผิดธรรมชาติหลายจุด เจาะจงสกัดพรรคเพื่อไทยคุมเกมแก้กฎหมายประชามติโดยเฉพาะ
พรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก เริ่มเห็นเค้าลางปลายทางปรับจูนหลักเกณฑ์ประชามติ ไม่มีทางกลับไปใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ตามที่ค่ายแดงหวังไว้ได้แน่
อำนาจคุมเกมแก้กฎหมายสำคัญไม่ได้อยู่ในการควบคุม หนำซ้ำยังตกอยู่ในวงล้อมพรรคร่วมรัฐบาล
แม้กระทั่งการเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็ดูทรงคุมธงลำบาก ไม่แคล้วถูกต่อรองกดดันหนักจากเพื่อนร่วมรัฐบาลต้องไปเปิดโหมดวัดพลังกันอีกครั้ง ตอนเปิดสภาเดือน ธ.ค. ไม่รู้จะลงเอยอย่างไร
เพื่อไทยไล่เจรจาต่อรองพรรคร่วมฯไม่จบสิ้น มีแต่เข้าเนื้อเสียรังวัด นโยบายแก้กฎหมายสร้างประชาธิปไตยที่หาเสียงไว้ โดนดักทำลายจังหวะ
เสี่ยงกระทบคะแนนนิยม เสียฐานมวลชนให้คู่แข่งสำคัญ พรรคประชาชน
เพื่อไทยติดล็อกเกมอำนาจต่อรองพรรคร่วมรัฐบาล ทำได้แค่ประคับประคองการทำงานให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ไม่ให้สะเทือนเสถียรภาพเก้าอี้ผู้นำ
ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจก็คอยสร้างความพะวง หรือคดีแชร์ลูกโซ่ธุรกิจขายตรง “ดิ ไอคอน” ก็เล่นงานคีย์แมนพรรคเพื่อไทย โดนหางเลข เปื้อนโคลนมอมแมม ปั่นป่วนไปตามๆกัน
ไม่นับรวมกระบวนการนิติสงครามอีกสารพัด ในชั้น กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ คดี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำแทรกแซงพรรคเพื่อไทย คดีล้มล้างการปกครองฯ คดีปมจริยธรรมนายกฯ
สารพัดปัญหาพุ่งปะทะรอบทิศ ชวนเสียวไส้อยู่ไม่ครบเทอมถึงจะกุมอำนาจบริหาร แต่ไม่ได้การันตีจะมีแต้มต่อเหนือพรรคอื่น ภายใต้บริบทลี้ลับการเมืองไทยที่แวดล้อมไปด้วยค่ายกล
ในคิวที่พรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ก็รอจังหวะแต่งตัวลุ้นตะกายขึ้นอำนาจผู้นำ หากนายกฯหญิงเพลี่ยงพล้ำประสบอุบัติเหตุการเมือง
โจทย์การเมือง-โจทย์เศรษฐกิจ รายล้อมต้อน “นายกฯอิ๊งค์” ให้เข้าตาจน อย่างที่เริ่มมีการปั่นกระแสปล่อยข่าวนายกฯอาจชิงยุบสภา หนีการถูกยุบพรรค
เซ็ตซีโร่เริ่มต้นกันใหม่ แต่ต้องวัดใจจะกล้าเสี่ยงหรือไม่ ในสถานการณ์ความเป็นจริงที่พรรคเพื่อไทยยังแก้โจทย์เศรษฐกิจ พิชิตใจประชาชนไม่ได้
ถ้าชิงความได้เปรียบไม่สำเร็จ ยุบสภาไป ก็เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง!!!
ทีมข่าวการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม