การคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมายแต่ที่ส่งผลต่อ “การเปลี่ยนแปลงกระทบการพัฒนาประเทศ” มักมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ และกลุ่มทุนใหญ่เชื่อมโยงการผูกขาดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ถ้าย้อนดูสถานการณ์ “คอร์รัปชันในไทยตั้งแต่ปี 2501-2567” มีการพัฒนามาต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่เรียกค่าน้ำร้อนน้ำชามาจนเก็บเปอร์เซ็นต์ซื้อขาย จัดซื้อจัดจ้าง การผูกขาดสัมปทาน และการทุจริตในรัฐวิสาหกิจแล้วผลประโยชน์ก็ส่งต่อในกลุ่มราชการบางคนผ่านรัฐวิสาหกิจ หรือการร่วมมือกันระหว่างนายทุนกับผู้มีอำนาจรัฐ

ต่อมาปี 2526-2534 “การเมืองแทรกเข้าไปในระบบราชการ” กระทั่งปี 2540-2544 “อันเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง” ก็เริ่มเห็นการทุจริตยา การทุจริตสวนครัวรั้วกินได้ อันเกิดจากอิทธิพลทางการเมืองเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคนี้แล้ว “ข้าราชการ” ก็ถูกบังคับให้เข้าสังกัดพรรคการเมือง เพราะมิเช่นนั้นก็ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้

จนมาถึงในปี 2544-2553 การทุจริตขยายตัวอย่างรวดเร็วจาก 10-15% ก้าวกระโดดเป็น 30% “มีทั้งการผูกขาดด้านการเมือง และการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ก่อให้เกิดเป็นภัยต่อบ้านเมืองจากนักธุรกิจทุนใหญ่ที่มีตัวแทนเข้ามาเล่นการเมืองสูงขึ้น “แทรกแซงเข้าทุกอำนาจขององค์กรอิสระ” เพื่อใช้ทำลายขั้วตรงข้าม

กลายเป็นว่า “นักธุรกิจกับการเมืองเป็นเนื้อเดียวกัน” มีการบิดเบือนผลักดันนโยบายสาธารณะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนมากขึ้นเรื่อยๆ “จนประเทศไทยมาถึงยุค Money Politics” ที่มีการคอร์รัปชันทุกระดับส่งผลต่อมาถึงยุคปัจจุบันนี้ที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า

การทุจริตคอร์รัปชันช่วงที่แล้วส่งผลสะท้อนมายุคนี้ให้ได้เห็นชัดว่า “คนมีพลังอำนาจ” มักมีศักยภาพในการต่อรองผลักดันทางเศรษฐกิจได้สูง “จนพากันใช้เงินทุ่มเทเพื่อให้ได้อำนาจนั้นมา” ดังนั้นการคอร์รัปชันทางการเมืองคอร์รัปชันเชิงนโยบายหรือโกงกินในรัฐวิสาหกิจต่างมีจุดหมายทางเดียวกันและกระทำกันโจ๋งครึ่มซึ่งหน้า

...

แล้วรูปแบบอดีตถึงปัจจุบัน “กลุ่มทุน และกลุ่มการเมือง” มีลักษณะตรงกันอย่างหนึ่งคือ “การเกาะอำนาจเกาะกระบอกปืน” เพื่อให้มีโอกาสสร้างเงื่อนไขผูกขาดออกนโยบายสาธารณะก่อประโยชน์ให้ตัวเองพวกพ้อง

ทว่าสำหรับ “รูปแบบการผูกขาด” ส่วนใหญ่มุ่งเพ่งเล็งกับธุรกิจเชื่อมโยงกับการเมืองเพียงแต่ในชีวิตจริงยังมีธุรกิจที่น่าจะผูกขาดอีกมาก อย่างเช่นธนาคารที่อยู่ในเกณฑ์การแข่งขันมีการผูกขาดหรือไม่ รวมถึงบางบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทำตามกฎหมายทุกอย่างแต่ก็มีแนวโน้มผูกขาดตลาด ในเรื่องนี้จะต้องตรวจสอบกันมากขึ้น

ดังนั้นการคอร์รัปชัน “ผู้มีอำนาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนไม่ใช่แค่ข้าราชการระดับใหญ่” แต่ต้องดูถึงการกำหนดนโยบาย การพูด หรืออธิบายแทนนายทุน เพราะทุนใหญ่ครอบงำตลาดมานาน เลี้ยงดูปูเสื่อข้าราชการบางคนมาตลอดแล้วผ่านมาหลายสิบปีคนกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่สามารถกำหนดนโยบายองค์กรตอบสนองกลุ่มทุนต่างๆได้

จึงตั้งคำถามถึง “ผู้คุมเสียงทางการเมืองส่วนใหญ่เวลานี้” จะแก้ปัญหานี้อย่างไร หรือจะเอาไปพูดในสภาหรือไม่ แล้วก็หวังภาคประชาชน และภาคธุรกิจจะร่วมมือกันเหมือนในเกาหลี และอินโดนีเซียที่บทบาทชนชั้นกลางมีส่วนสำคัญต่อ “การเปลี่ยนแปลง” ดังนั้นประเทศไทยควรรณรงค์กับชนชั้นกลางให้เห็นปัญหานี้ร่วมกัน

เช่นเดียวกับ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการป่าสาละ บอกว่า สำหรับความคาดหวังในรัฐบาลใหม่หากดู “นโยบายแถลงต่อรัฐสภาเร่งด่วนที่ 2” ที่รัฐบาลประกาศจะดูแลส่งเสริมปกป้องผู้ประกอบการ SMEs ในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจาก “คู่แข่งทางการค้าต่างชาติ” โดยเฉพาะธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

เรื่องนี้ส่วนตัวมองว่า “รัฐบาล” กำลังตีกรอบนโยบายการปกป้องผู้ประกอบการไทยจากต่างชาติเท่านั้น “มิได้มองถึงอำนาจผูกขาดของผู้ประกอบการไทยในตลาดเป็นปัญหาด้วยซ้ำ” เช่นนี้อนาคตเป็นไปได้ว่าอาจจะมีมาตรการบางอย่างออกมาเสริมสร้างอำนาจผูกขาด หรืออำนาจทางตลาดให้กลุ่มทุนใหญ่ไทยเพิ่มมากขึ้น

ด้วยข้ออ้างว่า “สร้างความเข้มแข็งรับมือกับทุนต่างชาติ” จึงต้องจับตาเพราะถ้าดูกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมจนเหลือเจ้าใหญ่ 2 รายนั้นก็ให้เหตุผลเพื่อสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจไทยรับมือทุนต่างชาติเช่นกัน

สิ่งนี้อาจเป็น “วิธีออกมาตรการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่หรือไม่” ฉะนั้นการจัดเวทีเสวนาวันนี้ในหัวข้อ “ปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดประเทศไทย การเมืองและกฎหมายจะกำกับกลุ่มทุนได้อย่างไร” จัดโดยเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สถาบันสังคมประชาธิปไตย และ ครป. ก็ได้เตรียมเนื้อหามาพูด 2 เรื่อง คือ

เรื่องแรก...“กลุ่มใหญ่ยึดกุมรัฐ” เดิมที่ผ่านมาเราเคยได้ยินแต่ว่า “การทุจริตเชิงนโยบาย” แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ “เศรษฐกิจไทยเลวร้ายกว่าการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ด้วยปัจจุบันเป็นการยึดกุมรัฐโดยตรงของกลุ่มทุนต่างๆ ที่เรียกว่า “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ในการบิดเบือนอำนาจรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน

แล้วการยึดกุมรัฐและการใช้อำนาจนี้ไม่ใช่มีแค่เฉพาะผู้กำหนดนโยบายอย่างเดียวแต่ยังยึดกุมถึง “องค์กรอิสระ” จนกลไกเอาผิดภาคธุรกิจกระทำผิดไม่อาจใช้การได้ ทำให้ปัญหา State Capture ปัจจุบันเป็นเรื่องใหญ่

ฉะนั้นเห็นด้วยว่า “ไม่ควรนับถือมหาเศรษฐี” ที่สร้างเนื้อสร้างตัวเติบโตมาจากการเอากำไรในผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยการเข้าไป “มีอำนาจในรัฐในช่วงที่รัฐอ่อนแอ” จนเกิดความมั่งคั่งของการผูกขาด

เรื่องที่สอง...“ทุนผูกขาดกระทบเศรษฐกิจ” เรื่องมีกรณีศึกษากลุ่มทุนมีอำนาจเหนือตลาดสูงๆ “การเติบโตมักจะต่ำ” แนวโน้มส่งออกอยู่นอกประเทศน้อย มีประเทศส่งออกน้อย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ไม่มี

ด้วยอำนาจทางการตลาดที่ได้จากการเอื้อประโยชน์ของรัฐนี้ “ก่อเกิดให้ธุรกิจความมั่นคง” จนไม่มีแรงจูงใจพัฒนานวัตกรรมใหม่ หรือต้องการไปแข่งขันกับต่างชาติ เพราะทำธุรกิจในประเทศก็สร้างรายได้ดี สิ่งนี้จะก่อเกิดผลเสียทางเศรษฐกิจไทยที่ไม่ตกต่ำอย่างเดียว แต่กำลังถูกกำหนดการผลิตสินค้าที่ประเทศอื่นเลิกใช้ไปแล้วด้วย

เหล่านี้ล้วนมีต้นตอจาก “การผูกขาดกอบโกยทรัพยากรไปโดยรัฐเป็นผู้เอื้อประโยชน์” ฉะนั้นควรศึกษาเรื่องนี้เผยแพร่ให้กว้างขวาง “วิธีการตรวจสอบทฤษฎีการยึดกุมรัฐ” ดูได้จากการตัดสินขององค์กรของรัฐ เช่นกรณีตัดสินของ กขค. และ กสทช. มีการตัดสินเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือไม่

สุดท้ายขอเสนอให้ “ผู้ประกอบการรายอื่น” ที่ได้รับผลกระทบจากการผูกขาด และเดือดร้อนจากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ ควรมาทำงานกับประชาชนมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม