สภากาแฟถกเถียงกันมานานว่า “หนูอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอยู่ในตำแหน่งได้นานมากน้อยขนาดไหน หรือแค่ 3 เดือนก็ต้องไป

ตอนนี้ก็ไม่ต้องเถียงกันไปสักพักแล้ว เพราะ นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 1,310 คน ในหัวข้อที่ถามถึงความเชื่อมั่นต่อความอยู่รอดของรัฐบาลนายกฯแพทองธาร ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันช่วงระหว่างวันที่ 21-22 ต.ค.ที่ผ่านมา

พบว่า ร้อยละ 41.68 เชื่อว่า รัฐบาลของนายกฯแพทองธารจะอยู่ต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง หรือจนกระทั่งครบเทอมในปี 2570

ร้อยละ 19.08 มีความเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ต่อไปได้อีกประมาณ 2 ปี หรือในปี 2569 และร้อยละ 16.87 จะไปต่อได้อีกปีเดียวคือ ปีหน้า หรือปี 2568

ในขณะที่ร้อยละ 11.99 เชื่อมั่นว่าจะไปต่อได้จนเกือบๆครบเทอม ถ้ารวมกับคำตอบแรกที่เชื่อว่ารัฐบาลนายกฯแพทองธารจะอยู่จนครบเทอม คะแนนความเชื่อมั่นในมือของรัฐบาลชุดนี้จะได้เท่ากับร้อยละ 53.67 จัดว่าไม่เลว และอาจจะไม่ได้คาดคิดกันว่า รัฐบาลของเด็กเจนวาย (Y) จะเข็นครกขึ้นภูเขาไปได้นานถึงขนาดนี้เชียวหรือ?

ส่วนพวกที่ไม่เชื่อว่าจะไปต่อหรืออยู่ได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 มีร้อยละ 9.77 และประเภทเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่สนใจ และไม่ประสงค์จะตอบมีอยู่ร้อยละ 0.61

เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลนายกฯแพทองธารไปต่อไม่ได้ ร้อยละ 34.4 ตอบว่าเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญา และความคาดหวัง

มิสไฟน์ ว่า คำตอบนี้ เหมาะสมกับสำนวนที่เรียกว่า โยนกลอง ซึ่งแปลตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาได้ว่า ปัดความรับผิดชอบ หรือโยนภาระไปให้รัฐบาล แม้จะรู้ชัดอยู่ว่า ถ้าหน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศไม่ดำเนินการตามนโยบาย รัฐบาลก็คงทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนไม่ได้

...

เช่น แบงก์ชาติ ไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ธุรกิจพากันล้มตายไปจำนวนมาก อาทิ ค่ายรถยนต์ หรือเต็นท์ขายรถมือสอง รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้านไม่ออกเลย และเพิ่งจะมาประกาศขายกันอีกทีในช่วงหลังจากแบงก์ชาติยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ 0.25% ซึ่งน่าจะสายเกินแกงไปนานแล้ว เป็นต้น

ส่วนปัจจัยอื่นๆก็เช่น การที่มีนักร้องไปร้องเรียนให้จัดการกับอดีตนายกฯทักษิณ และยุบพรรคเพื่อไทย น่าจะทำให้รัฐบาลนายกฯแพทองธารอยู่ไม่ได้ร้อยละ 32.52

ยังมีปัจจัยร้อยละ 29.47 ที่เห็นว่า การบริหารงานผิดพลาดจะนำไปสู่วิกฤติที่รัฐบาลอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งภายในรัฐบาล การชุมนุมประท้วง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีตากใบ และการปฏิวัติรัฐประหาร

รวมๆกันจะได้ข้อสรุปที่สวนทางชัดเจนว่า อยู่ได้ในแบบยากมากส์ โดยเฉพาะเมื่อสังคมถูกชี้นำโดยพวกบรรพชนตกยุค.

มิสไฟน์

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม