มาตรา 112 ไม่ได้มีปัญหากับบ้านเมือง
ไม่มีเหตุผลไปออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ขยับมุมมองหลัง “ทีมการเมือง” ตั้งคำถามถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคการเมือง 3 พรรค ของภาคประชาชน 1 ร่าง
ตั้งแท่นเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้าที่จะเปิดในวันที่ 12 ธ.ค.67 ส่อทำให้เกิดปมขัดแย้งขึ้นในประเทศ
คงได้ยินการอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในส่วนของพวกผมไม่ได้มีความคิดไปออกกฎหมายพิเศษเพื่อการใด เพื่อคนใดคนหนึ่ง การนิรโทษกรรมตอนดึกก็เคยมีปัญหามาแล้วชัดเจน
เรื่องนี้ยังไม่ได้เป็นปัญหาของบ้านเมือง คนทำผิดต้องรู้ว่าทำผิด ถ้าคนที่ไม่มีเจตนาก็ไม่มีปัญหาการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ในฐานะเป็นนักการเมืองมายาวนานกว่าคนอื่น ก็ยังมองไม่เห็นใครไปกลั่นแกล้ง
สุดท้ายถ้าไม่ผิด ไม่มีเจตนา ศาลก็ยก ไม่ใช่ลงโทษทุกคน แต่ถ้าไปคึกคะนอง ไปพูด ไปทำล้ำเส้น ล่วงล้ำก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำไป
เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมคดีการเมืองไม่พ่วงคดี 112 นายชวน บอกว่า ไม่ๆ ในหมู่ผู้ใหญ่ที่พูดคุยกับนักกฎหมายของพรรคเห็นว่าคดีการเมือง ยังไม่เห็นว่าต้องไปนิรโทษกรรม ยังมองไม่ออกว่าคดีการเมืองอะไรที่เป็นเหตุให้นิรโทษกรรม
“ไม่ใช่แค่มาตรา 112 คดีอื่นก็เหมือนกัน ที่เป็นรูปธรรมคืออะไร นิรโทษกรรมให้กลุ่มนักการเมืองไหน นักการเมืองคนไหน ทำผิดอะไร ยังไม่มีตัวเลขให้เห็น ยังไม่มีตัวบุคคล
กฎหมายใดที่มีความบกพร่อง ควรแก้ไข เมื่อมีกฎหมายแล้วทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ประชาธิปไตยถึงราบรื่น ถ้าประชาธิปไตยอ่อนแอก็ไปไม่รอด
...
ฉะนั้น การออกกฎหมายเพียงเพื่อยกโทษให้คนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง อันนี้พวกเราไม่เห็นด้วย”
ในรายงานของ กมธ.ระบุนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้แก่ประชาชนทุกเสื้อสี รวมถึงเยาวชน นายชวนบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วม
ต้องระบุตัวบุคคล ไปเหมาทั้งหมดไม่ได้
ถ้าทำผิดอาญาต้องรับโทษทางอาญา เผาบ้านเผาเมือง ไปทำลายการประชุมระหว่างประเทศ เป็นกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เรียกว่าประชาชนไม่ได้ ไม่มีเหตุผลมายกว่านิรโทษกรรมให้ประชาชน ต้องรับโทษ ไม่ควรนิรโทษกรรม
บ้านเมืองต้องระวังเรื่องนี้มาก เพราะประเทศในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไปได้โดยมีประสิทธิภาพ กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ วันนี้ประเทศไทยมีปัญหา มีจุดอ่อน กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์
ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา ตัวผู้บริหารกฎหมายไม่จัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย มันจึงกลายเป็นประชาธิปไตยที่คนในประเทศวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศของตัวเองอ่อนแอ จะไปเอาตัวอย่างประเทศสังคมนิยมด้วยซ้ำไป
“ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่ใช้กฎหมายไม่เด็ดขาด ทำให้คนทำผิดได้ประโยชน์ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำผิดก็เสียประโยชน์
คนในระบอบประชาธิปไตยรู้สึกว่าโลกนี้ไม่เหมาะสม มันช้า ไม่ทันการณ์ เอาผิดกับคนทำผิดไม่ได้ คนชั่วลอยนวล พวกรวยแล้วก็รวยเอา กอบโกย ทำอะไรไม่ผิด มันทำให้เป็นชนวน
สนับสนุนให้จัดการคนที่ละเมิดกฎหมายโดยเด็ดขาด ผ่านกระบวนการยุติธรรม ถ้ารักประชาธิปไตยจริง ต้องปฏิบัติการให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ แบบนี้ประชาธิปไตยไปรอด”
เมื่อกฎหมายเป็นกฎหมาย อะไรที่กฎหมายห้าม ถ้าใครละเมิดต้องว่าไป อย่าไปกลัว ตัวอย่างของจริง กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีจริยธรรม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น
ใครเห็นอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ผลคือรัฐบาลต่อมาไม่กล้าตั้งคนที่คิดว่าจะมีปัญหาเป็นรัฐมนตรี คนเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นนักเลงพอพร้อมที่จะไม่เข้ามา เพื่อให้เป็นปัญหากับรัฐบาล
ฉะนั้น พรรค การเมืองทำผิด กลุ่มคนทำผิด ขอให้องค์กรเหล่านั้นกล้าตัดสินโดยเด็ดขาด เข้มแข็ง อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง อย่าไปเกรงใจ อย่าไปกลัว อย่าไปห่วงว่าเดี๋ยวบ้านเมืองมีปัญหา ประเทศชาติเสียหาย
พรรคการเมืองทำไม่ถูก ต้อง...ลงโทษ
คราวหน้าก็ไม่กล้าทำ อะไรที่ผิดกวาดไปเรื่อยๆ กระทั่งขยะการเมืองมันก็ค่อยๆหมดไป น้ำดีค่อยๆขึ้นมา ไม่หมดคนดีหรอก มีคนเข้ามาต่อ บ้านเมืองไม่วุ่นวาย หลายประเทศที่พัฒนาประชาธิปไตยมาได้ ล้วนผ่านประสบการณ์นี้ทั้งสิ้น
วิธีนี้ทำให้ประชาธิปไตยรอด ไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยก็เป็น ธุรกิจการเมือง ใครมีเงินมากกว่าก็ชนะไป เป็นแบบนี้ตลอดจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร มันไม่มีทาง
ขณะนี้เป็นห่วงธุรกิจการเมืองทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแออย่างไร นายชวน บอกว่า ขณะนี้มีการละเมิดหลักเกณฑ์บ้านเมืองตลอด องค์กรทั้งหลายต้องตรวจสอบโดยเด็ดขาด
และเดี๋ยวนี้การเลือกทั่วไปมีแค่กระแส-กระสุน มีสักกี่คนมาโดยไม่ได้ใช้เงิน ซึ่งก็มีแต่แนวโน้มไปในทิศทางต้องใช้เงิน เมื่อต้องใช้เงินทุกคนถึงดิ้นรนเป็นรัฐบาล มันมีโอกาสหาประโยชน์ได้
ฉะนั้น ประชาธิปไตยกลายเป็นจุดอ่อน ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ให้อำนาจให้ประโยชน์แก่คนคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีอะไรดีกว่าคนอื่นแต่มีเงิน มีฐานะกล้าที่จะทำผิด
ทุกครั้งที่กองทัพยึดอำนาจหนึ่งในเหตุที่อ้าง คือคอร์รัปชัน ขณะที่กำลังจะแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) แต่มองไปในอนาคตอาจมีการยึดอำนาจอีก นายชวนบอกว่าผมไม่ได้รับ รธน.ฉบับนี้ แต่ตอนที่ร่าง รธน. ได้เชิญผมไปขอความเห็นในฐานะที่ใช้ รธน.มากกว่าทุกคน ทุกฉบับ ได้เสนอมุมมองว่า
ไม่ใช่ข้อบกพร่องของ รธน. มันเกิดจากผู้ใช้ รธน.
ใช้ รธน.40 ก็ถูกยึดอำนาจ เพราะผู้บริหารประเทศในขณะนั้น ใช้มาตรการนอกกฎหมาย ยิงทิ้งภาคใต้ เดือนละ 10 คน ฆ่าตัดตอน มาจาก คนทำ รธน.ไม่ได้ระบุเอาไว้ รธน.50
ถึงได้มีมาตรา 3 วรรคสอง กำหนดให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หลักนิติธรรม หลังจากที่มีการละเมิดหลักนิติธรรม
รธน.60 ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากตัว รธน.เป็นหลัก แต่เกิดจากผู้บริหารผู้ปฏิบัติ ตาม รธน.ไม่ปฏิบัติตามหลัก นิติธรรมที่ระบุเอาไว้ มีบางคนไม่เกรงกลัว เห็นชัดว่ามันเกิดจากตัวบุคคล ทำให้เกิดสถานการณ์
กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ ประชาธิปไตยถึงอยู่รอด
แต่ฝ่ายการเมืองที่โดนกระทำ ถูกลงโทษ มองฝ่ายตรงข้ามที่ถืออำนาจอยู่ใช้นิติสงคราม นายชวน บอกว่า ไม่เห็นนิติสงคราม เป็นวิธีการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง แต่แนวโน้มเริ่มมีปัญหาองค์กรที่วิ่งได้ อาจวิ่งไม่ได้เสมอไป
ขอเรียกร้ององค์กรทั้งหลายรักษาความเข้มข้นของบทบาท อย่ายอมให้บรรดานักการเมืองหรือใครก็ตาม วิ่งคดีให้ยกเว้นความผิด ในที่สุดก็เป็นผลลามมาถึงปัจจุบันไม่มีวันจบสิ้น
คนทำผิดไม่กลัว มีความเชื่อมั่นวิ่งได้ทุกเรื่อง
ขณะนี้ดีใจที่มีบรรดานักร้องทั้งหลายกล้าไปร้องเรียน ถึงแม้คนไปร้องเริ่มถูกโจมตี เมื่อก่อนก็โจมตีคนถูกร้อง สมัยนี้โจมตีคนร้อง ใครร้องโกงไม่จริงก็ต้องรับผิดฟ้องเท็จไป
แต่กระแสการเมืองของพวกมีเงินสามารถเปลี่ยนกระแสได้
ขอให้สื่อมวลชนยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องชอบธรรม ทำให้ค่อยๆ กรองสิ่งดีงามเข้ามาเรื่อยๆ
กวาดขยะการเมืองที่มันเลวร้าย
ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอออกไป.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม