ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่รุนแรงขึ้น “กำลังเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อประเทศไทย” ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาประเทศ การค้าการลงทุน การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดทั้งทางตรงและทางอ้อม กลายเป็นความท้าทายให้รัฐบาลใหม่ต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้

ถ้าดูตั้งแต่ปี 2565-2567 “ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สูงมากขึ้นเรื่อยๆ” นับแต่ก่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมานานแล้ว ความผันผวนก็เพิ่มขึ้นอีก “ในช่วงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส” เมื่อรวมกับมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่หากยืดเยื้อรุนแรงก็จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลกแน่ๆ

ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และการสูญเสียระบบนิเวศ ทรัพยากรที่จะกระทบมายังเศรษฐกิจไทยได้อย่างกรณี “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่เป็นฐานผลิตสินค้าทางการเกษตรสำคัญรายใหญ่ทั้งปุ๋ย ธัญพืช ก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนจนราคาปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานี้

สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือ “การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ทั้งพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต “ต่างมีนโยบายทำสงครามการค้ากับจีน” จนหลายฝ่ายต้องจับตาสถานการณ์ปัจจัยภายนอกนี้ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ นำเสนอการเปลี่ยนแปลง
ภูมิรัฐศาสตร์โลก:นัยต่อไทยในงานการประชุม สศช.ประจำปี 2567ว่า

ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกผันผวนจะกระทบต่อประเทศไทย อันดับแรกคือ...“สงครามการค้า” ถ้าหากดูโครงสร้างการค้าโลกก่อนปี 2544 “จีน” ยังไม่เข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้เศรษฐกิจโลกช่วงนั้น “สหรัฐฯ” มีบทบาทสูงสุดเพียงประเทศเดียว แต่พอในปี 2560 “จีน” เข้ามาเป็นประเทศสมาชิก WTO จนมีบทบาทต่อการค้าโลกเท่าสหรัฐฯ

...

ทำให้สหรัฐฯมีมาตรการกีดกันทางการค้าแล้วจีนก็มีมาตรการตอบโต้เช่นกัน สุดท้ายขยายเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2563 ส่งออกคิดเป็น 13% ทั่วโลก และมูลค่าทางอุตสาหกรรม 4 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นตอนนี้เศรษฐกิจโลกกระจุกอยู่ 3 จุด คือ สหรัฐฯ อียู และจีน

ถัดมา“สงครามเทคโนโลยี” มีสมรภูมิหลักทั้งเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก แร่ธาตุหายาก และแพลตฟอร์มดิจิทัล ฉะนั้นประเทศไทยอาจใช้โอกาสนี้สามารถดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้ย้ายฐานผลิตมาตั้งในประเทศได้หากมีมาตรการเหมาะสม และตอนนี้ได้ใช้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันดึงมาได้ 2-3 แห่ง

ถ้ามาดู “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)” ปัจจุบันเข้ามาในอาเซียนขึ้นมากตั้งแต่ปี 2560-2566 “ยกเว้นไทยและมาเลเซีย” ที่เป็นความท้าทายรัฐบาลไทย สร้างความน่าสนใจดึงอุตสาหกรรมเข้ามาในประเทศ

แต่การย้ายฐานอุตสาหกรรมในหลายประเทศนี้ “ก็เกิดความ ต้องการแรงงานทักษะสูง” ตามข้อมูล The Global Talent Com petitiveness Index ประเทศไทยถูกจัดอยู่ลำดับที่ 79 จาก 134 ประเทศ และอยู่อันดับ 4 ของอาเซียน สะท้อนถึงต้องการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้น และเร่งปรับสภาพแวดล้อมของระบบพัฒนาแรงงานด้วย

เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาช่วยยกระดับศักยภาพแรงงานในประเทศมากขึ้น เรื่องนี้มีหลายประเทศที่คิดเหมือนกันการชิงแรงงานจะเกิดขึ้น “รัฐบาล” ต้องมีมาตรการที่จะดึงเช่นเรื่อง Visa แบบพิเศษ

ตอกย้ำ “วิกฤติผู้อพยพ” ความจริงเหตุความขัดแย้งในยุโรป และตะวันออกกลางไม่ได้ส่งผลต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เมียนมา” กำลังเป็นปัญหาการหลั่งไหลผู้อพยพเข้ามาในประเทศแม้ว่า “รัฐบาลไทย” จะผลักดันกลับประเทศต้นทางแล้วแต่จำนวนผู้อพยพก็ลดลงเพียงเล็กน้อย

โดยในปี 2566 มีคนตกค้างอยู่ 8 หมื่นคนจาก 9 หมื่นคนในปี 2565 “การลี้ภัยของชาวเมียนมา” ก็นำมาสู่ผลกระทบหลายมิติ “รัฐบาลไทย” ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณควบคุมดูแล เช่นนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่า “นำผู้อพยพเข้าสู่ระบบแรงงาน” เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศเพียงแต่คงต้องมานั่งพิจารณาข้อดี-ข้อเสียกันด้วย

ประการถัดมา “ความมั่นคงทางอาหาร” นับแต่เกิดสงครามระหว่างประเทศอย่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มสูงร้อยละ 35-45 ส่งผลต่อพื้นที่การเกษตร ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานการผลิตการกระจายสินค้าอาหาร และวัตถุดิบถูกทำลาย กลายเป็นการเพิ่มต้นทุนราคาสินค้านำไปสู่การขาดแคลนอาหารในประเทศต่างๆ

เมื่อเป็นแบบนี้ “ประเทศไทยฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก” ต้องเตรียมการด้านความมั่นคงทางอาหารให้พร้อมทั้งพันธุ์พืช และการผลิต เพื่อรองรับความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น จะเป็นโอกาสการส่งออกอาหารมากขึ้น

เช่นเดียวกับ “ความมั่นคงทางพลังงาน” แม้จะยังไม่เห็นปัญหาชัดเจนแต่หาก “ช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด” จะกระทบภาคขนส่งน้ำมันดินในตะวันออกกลางกลายเป็นห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานผันผวนกระทบประเทศไทยที่พึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหลัก ทำให้เราต้องวางกลยุทธ์หาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศไว้ด้วยก็ดี

ย้ำผลกระทบจาก “การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ” สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “จีน” อาศัยความได้เปรียบเป็นประเทศต้นน้ำของลุ่มแม่น้ำโขงก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในช่วงปี 2538-2562 ทำให้แอ่งน้ำลึกในแม่น้ำโขงตื้นเขินขึ้น “การขึ้นลงของน้ำผิดปกติ” ส่งผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำ เกิดปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง

กระทั่งนำไปสู่ “เสียงทักท้วงจากประเทศแม่น้ำโขงตอนล่าง” ต่างเรียกร้องให้จีนคำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำ ดังนั้นประเทศไทยควรต้องบริหารจัดการน้ำท่วม และน้ำแล้งให้เพียงพอ

สิ่งที่กล่าวมา “ล้วนเป็นความท้าทายต้องบริหารจัดการ” เพื่อรับความผันผวนภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เกิดขึ้น “ประเทศไทย” ต้องใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนต่างประเทศเข้ามา จะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเศรษฐกิจมีมูลค่า “แรงงานและทักษะ” ต้องพัฒนา ecosystem เอื้อต่อการดึงแรงงานทักษะสูง

ทั้งพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศรับแนวโน้มทางเทคโนโลยี และตลาดเดินหน้าอย่างก้าวกระโดด “ความมั่นคงทางอาหาร” จากวัตถุดิบสินค้าเกษตรสูงขึ้นเป็นแรงจูงใจกดดันการผลิตที่อาจใช้โอกาสนี้ออกได้

สุดท้ายคือ “ความมั่นคงทางพลังงาน” ถ้านำเข้าพลังงานสูงแต่มีศักยภาพความสามารถพัฒนาแหล่งก๊าซในประเทศให้ “เป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค” ก็จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

นี่เป็นความผันผวน “ภูมิรัฐศาสตร์หลายมิติ” ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยแล้วจำเป็นต้องเตรียมพร้อมกับผลที่จะเกิดนี้ “เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” นำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม