“อังคณา นีลไพจิตร” ยัน รัฐบาลออก พ.ร.ก. ต่ออายุคดีตากใบได้ทันที แม้อ้างไม่ทัน ชี้ ควรสังคายนากฎหมาย คดีละเมิดสิทธิร้ายแรงควรไม่มีอายุความ ฝากรัฐบาลเลิกโยนความผิดผู้เสียหาย ลั่น เสียดายความไว้ใจที่เคยมี

วันที่ 22 ตุลาคม 2567 นางอังคณา นีลไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กมธ. ถึงความคืบหน้าของคดีตากใบที่เหลืออายุความ 3 วัน ว่า ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อขยายอายุความในคดีตากใบได้ แต่จากที่ฟังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะไม่ทัน แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถทำได้

นางอังคณา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย หากรัฐบาลสามารถขยายหรือชะลออายุความไว้ก่อน แต่หากประตูบานนี้ถูกปิดก็ยังมองไม่ออกว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มาศาลในวันที่ 25 ตุลาคม ก็ถือว่าคดีหมดอายุความไปตามกฎหมาย เช่นเดียวกับคดีมัสยิดกรือเซะที่มีผู้เสียชีวิต 31 คน ที่ได้หมดอายุความไปแล้ว ส่วนหากคดีหมดอายุความไปแล้วจริงจะมีแนวทางอื่นในการดำเนินการได้หรือไม่นั้น หากกลไกภายในประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ยังมีช่องทางให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายคือร้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ เช่น สหภาพยุโรปในหลายประเทศ ก็อนุญาตให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถฟ้องร้องในคดีได้ และเมื่อศาลมีคำพิพากษาบุคคลนั้นจะไม่สามารถเดินทางเข้าไปในประเทศที่เกิดเหตุได้ กลับไปก็จะถูกจำคุก แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำคดีแบบนี้มาก

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ตนมองว่าคดีอาญาแผ่นดินที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากไม่ควรเป็นหน้าที่ของญาติผู้เสียชีวิตที่จะฟ้องร้องเอง แต่ควรเป็นหน้าที่ของอัยการ และคดีนี้ทำให้เกิดความเปรียบเทียบ ว่าหากประชาชนทำผิดต้องถูกลงโทษ และจับกุม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด แทบจะไม่เคยจับกุมผู้กระทำผิดได้เลย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถือว่าเป็นพื้นที่เปราะบาง

...

ส่วนตัวมองว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย ทั้งกรณีความผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ต้องไม่มีอายุความ และต้องขยายนิยามของผู้เสียหายให้กว้างขึ้น ให้รวมถึงสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการทรมานและบังคับสูญหาย

พร้อมกล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่เราก็ปล่อยโอกาสที่จะทำให้เกิดความจริงในศาลให้หมดไป เพราะเราไม่สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้ คงหลีกเลี่ยงยากในการที่จะเกิดความรุนแรงตามมา จึงได้แต่พูดว่าเสียดายกับความไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมี ซึ่งอาจจะหมดไป

นางอังคณายังกล่าวถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เราได้เห็นความพยายามของท่าน แต่หน่วยงานที่อยู่ใต้กำกับของกระทรวงอื่น รวมถึงนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการพิสูจน์ความจริง และปล่อยให้ผู้ต้องหาหายไปได้ จึงเป็นคำถามที่ท้าทายอย่างมากว่าเราจะคืนความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างไร

ทั้งนี้อยากฝากถึงรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องหยุดสร้างวาทกรรมที่โยนความผิดให้ผู้เสียหาย เราจะเห็นบางหน่วยงานรัฐพยายามพูดว่ากรณีของตากใบ เป็นการกระทำของขบวนการให้เกิดการชุมนุม แต่หลายฝ่ายตั้งกำลังตั้งคำถามว่า ใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน มีความเชื่ออย่างไร บุคคลเหล่านั้นต้องไม่เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ นี่คือประเด็นสำคัญ