เมื่อวานนี้ผมทิ้งท้ายไว้ว่า ผมดีใจมากที่ “โครงการประชารัฐ” ที่ริเริ่มในสมัยบิ๊กตู่ยังอยู่ทั้ง 2 โครงการ โดยเฉพาะโครงการด้านการศึกษา “ระดับฐานราก” ที่ภาคเอกชนภายใต้การนำของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ เข้ามาร่วมดำเนินการ

ส่วนอีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการประชารัฐด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ชุมชนระดับฐานราก เช่นเดียวกัน ซึ่งมีการตั้งคณะทำงาน “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ” ให้รัฐมนตรีมหาดไทยเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และคุณ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าภาคเอกชนนั้น...ก็ยังคงอยู่และดำเนินการอย่างเข้มแข็งเช่นกัน

ผมตั้งข้อสงสัยไว้เพราะระยะหลังๆ ข่าวเงียบไป นึกว่าเมื่อ “บิ๊กตู่” ไม่อยู่ “บิ๊กป๊อก” อดีตรัฐมนตรีคู่ใจก็ไม่อยู่ ไม่แน่ใจว่าประชารัฐในซีกนี้จะหงอยๆไปหรือไม่?

เผอิญโชคดีเข้ากูเกิลไปเจอหนังสือรายงานผลงานของคณะทำงานชุดนี้ปีล่าสุดคือปี 2566 ซึ่งรัฐมนตรีมหาดไทยเปลี่ยนมาเป็น “บิ๊กหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เรียบร้อยแล้ว

ในหนังสือแถลงผลงานของปี 2566 หน้าแรกมี สารจากหัวหน้าทีมภาครัฐ มท.1 อนุทิน มาให้อ่าน มีใจความตอนหนึ่งว่า

“กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยยึดหลักการ “ชุมชนลงมือทำ เอกชนขับเคลื่อน รัฐสนับสนุน” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 3 ภาคส่วนจะทำงานส่งเสริมเติมเต็มกันอย่างสมบูรณ์เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอขอบคุณทุกท่านสำหรับความร่วมมือที่ผ่านมาและยินดีสนับสนุนให้งานนี้ขับเคลื่อนไปอย่างเต็มกำลังครับ”

ในขณะที่สารจากหัวหน้าทีมภาคเอกชนคุณ ฐาปน สิริวัฒน ภักดี เขียนยาวกว่าท่านรัฐมนตรีหน่อย เพราะต้องสรุปตัวเลขความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเอาไว้ด้วยว่าในระยะเวลากว่า 8 ปีที่ทำงานกันมาเกิดมรรคเกิดผลอะไรแก่ชุมชนฐานรากบ้าง

...

มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ผลการร่วมมือกันทำงาน ทำให้จัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ขึ้นแล้ว 76 แห่ง มีบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด 1 แห่งในระดับประเทศ

ปัจจุบันเครือข่าย “ประชารัฐรักสามัคคี” ทั่วประเทศสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานไปแล้วกว่า 1,552 โครงการ แบ่งตาม 3 ประเภทกลุ่มงานคือ เกษตรแปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชนครอบคลุมกว่า 114,362 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไปแล้วกว่า 2,141 ล้านบาท...ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขในรายงานปี 2566 ครับ...

โครงการที่คุณ ฐาปน ภูมิใจกว่าเพื่อนเขียนไว้ยาวย่อหน้าเต็มๆก็คือ “โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ที่ดำเนินมากว่า 7 ปีแล้ว เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ “ผ้าขาวม้า” ทอมือ ผ่านช่องทางการตลาดที่กว้างขวางขึ้น

แถมยังดึงคนรุ่นใหม่ ศิลปินใหม่ๆ นักออกแบบใหม่ๆลงมาช่วยกันพัฒนาการผลิตผ้าขาวม้าตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า ถึงปลายนํ้า ตั้งเป็นโครงการย่อย “ทายาทผ้าขาวม้า” ขึ้นมาอีกโครงการ

ล่าสุดในงาน “มหกรรมความยั่งยืน ครั้งที่ 5” ที่ศูนย์สิริกิติ์ เมื่อปลายเดือนกันยายน ก็มีการจัดประชุมสัมมนาโดยคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นอีกครั้ง แสดงถึงความเอาจริงของคณะกรรมการ

คนเอาใจเชียร์คำว่า “ประชารัฐ” มาตั้งแต่แผนพัฒนาฯ 8 อย่างผม (อาจรวมถึงท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หัวหน้าทีมร่างแผนฯ 8 ด้วย) ดีใจมากครับที่คำนี้ยังอยู่และมีผลงานเจริญงอกงามยิ่งขึ้นทุกปีและทุกปี.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม