ที่ประชุมวุฒิสภา ถกตั้ง กมธ.ร่วมสองสภา ปมร่าง พ.ร.บ.ประชามติ สว.สีน้ำเงิน ยัน 14 ชื่อ สว.เสียงข้างมาก ด้าน สว.พันธุ์ใหม่ งัดข้อชง 2 ชื่อขอเอี่ยวเป็น กมธ.ร่วม หลังโหวตได้ 14 ชื่อตามเดิม ส่วน สว.เสียงข้างน้อย ตกเรียบ

วันที่ 21 ตุลาคม 2567 การประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ในสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 14 คน เนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ ของวุฒิสภาที่ส่งมายังสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขเกณฑ์การออกเสียงประชามติแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น จึงได้มีมติตั้ง กมธ.ร่วมกัน โดยกำหนดคนเข้ามาเป็น กมธ.ร่วมสภาละ 14 คน รวมเป็น 28 คน ทั้งนี้ นายสุทนต์ กล้าการขาย สว. ลุกขึ้นเสนอชื่อ กมธ. ในสัดส่วนของ สว. 14 คน คือ

1. พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย
2. นายธวัช สุระบาล
3. พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ
4. นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล
5. นายอภิชาติ งามกมล
6. นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล
7. พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร
8. นายกมล รอดคล้าย
9. นายชีวะภาพ ชีวะธรรม
10. นายเอนก วีระพจนานันท์
11. นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์
12. นายพิชาญ พรศิริประทาน
13. นายสิทธิกร ธงยศ
14. นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร

โดยทั้ง 14 ชื่อ เป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ให้ความเห็นชอบ ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ขณะที่ นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ที่มีเสียงข้างน้อย โหวตไม่รับรองเสียงข้างมาก 2 ชั้น ลุกขึ้นเสนอชื่อ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. และนายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. เพื่อร่วมเป็น กมธ.ร่วม จากฝั่งเสียงข้างน้อย โดยระบุว่าเป็นการเคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย ซึ่ง น.ส.นันทนา กล่าวว่ามีคำถามมากมายว่าทำไมวุฒิสภาจึงมีโผรายชื่อ 14 สว. ที่เป็นเสียงข้างมากทั้งหมด โดยไม่มีตัวแทนเสียงข้างน้อย หมายความว่า กมธ.ร่วมชุดนี้ไม่เห็นความสำคัญของสัดส่วน สว. และเสียงข้างน้อย แล้วจะตอบประชาชนที่สงสัยว่าวุฒิสภาแห่งนี้ว่าเป็นของใครได้อย่างไร ไม่ใช่วุฒิสภาของประชาชนหรือ ทุกครั้งที่มีการลงมติ เสียงข้างมากจะชนะทั้งหมดทุกเรื่อง ทั้งที่การตั้ง กมธ.ร่วมของสองสภา ควรเป็นสัดส่วนของ สว. ทั้งจากกลุ่มเสียงข้างมากและกลุ่มเสียงข้างน้อย หากสุดท้าย กมธ.ร่วมทั้ง 28 คน โหวตออกมาเป็นอย่างไร ก็สามารถอธิบายกับประชาชนได้ว่าเป็นสัดส่วนที่มีทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ไม่ใช่ไม่ใส่ใจเสียงข้างน้อย เราต้องทำให้ภาพลักษณ์วุฒิสภาไม่บิดเบี้ยว ไม่ทำให้ประชาชนขาดศรัทธาในวุฒิสภาแห่งนี้

...

จากนั้น นายพิสิษฐ์ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนไม่ได้มีความคิดเป็นเผด็จการ และเชื่อว่าวุฒิสภาแห่งนี้ไม่มีพรรคพวกหรือพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง ตนเคารพสิทธิทุกคน แต่ขอพูดถึงความเป็นจริงว่าเราต้องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ สัดส่วนของคนที่จะไปคุยกับคนที่เห็นชอบร่างดังกล่าวควรเป็นคนที่เห็นต่างกับ สส. โดยหลังการถกเถียงมีสมาชิกเสนอให้ลงมติ และยืนยันตามที่วิปวุฒิสภา คือมีมติเสนอรายชื่อ กมธ.ร่วมกันในสัดส่วนของ สว. 14 คน ต่อมา พล.อ.เกรียงไกร ประธานการประชุม ชี้แจงว่า ในการเสนอตั้ง กมธ.ร่วมสองสภา มีการเสนอรายชื่อเกินมา 2 คน จาก 14 รายชื่อเดิมที่ทางวิปวุฒิสภามีมติเสนอก่อนหน้านี้ คือ น.ส.นันทนา และนายประภาส รวมเป็น 16 คน ถือว่าเสนอรายชื่อ กมธ. เกินกว่าที่กำหนด พร้อมมอบให้เจ้าหน้าที่จัดทำบัตรออกเสียงเพื่อลงมติเลือก กมธ. ไปตามนี้ และสั่งพักการประชุมประมาณ 30 นาที

ต่อมาเวลา 15.40 น. นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ประกาศผลการนับคะแนน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบตามรายชื่อที่วิปวุฒิสภา มีมติ 14 คนเช่นเดิม ส่วนตัวแทน สว.เสียงข้างน้อย คือ น.ส.นันทนา ได้เพียง 27 คะแนน และนายประภาส ได้ 25 คะแนน สรุปรายชื่อทั้ง 14 คนเดิมที่ได้รับเลือกเป็นไปตามที่วิปวุฒิสภาอนุมัติแล้ว.