เพื่อไทยไม่กังวล กกต.รับคำร้องสอบยุบ 6 พรรคร่วมฯปล่อย “ทักษิณ” ครอบงำ “ประเสริฐ” โวยไม่ตรงข้อเท็จจริง มั่นใจชี้แจงได้จ่อถกในวงดินเนอร์แกนนำ 21 ต.ค. “ชูศักดิ์” เฉ่งผลพวงรัฐประหาร สร้างกฎหมายผิดธรรมชาติการเมือง ฉุดรั้งความเจริญของบ้านเมือง อ้างวงหารือบ้านจันทร์ส่องหล้าคุยกันว่า “ชัยเกษม” เต็งจ๋านายกฯ แต่รุ่งขึ้น พท.เป็นอิสระส่งชื่อ “แพทองธาร” นั่งนายกฯ “วิโรจน์” ซัดขบวนการนักร้องและเทวดาธิปไตยชักใยอยู่หลัง ตอกชนักปักหลัง บีบต่อรองอำนาจบริหาร จี้เลขาฯ กกต.แจงคำร้องอ้างมีมูลแค่เครื่องมือรัฐประหารเงียบโดยบัตรสนเท่ห์หรือคำร้องนิรนาม พท.ยันปมร้อนรายงานนิรโทษกรรมไม่เป็นรอยร้าวรัฐบาล “ธนกร” ขอวงข้าวพรรคร่วมฯเคาะทางออกให้ตกผลึก

พรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่กังวลกรณีที่คณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม กรณีถูกร้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำ โดยยกกรณีการหารือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า มีการพูดคุยเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯ แต่รุ่งขึ้นพรรค พท.ได้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ จึงไม่ถือเป็นการครอบงำ

พท.ไม่กังวลถูกยื่นยุบพรรค

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวน 6 คำร้องพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก รัฐมนตรี กระทำการครอบงำ พรรคกังวลหรือไม่ ไม่ได้กังวล เพราะตนดูรายละเอียดที่กล่าวหาแล้ว ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริง พรรคเพื่อไทยมีทีมกฎหมายที่จะแก้ข้อกล่าวหาเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว โดยมอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท.ดำเนินการ เมื่อถามว่าที่ผ่านมาทีมกฎหมายพรรค พท.ดูเหมือนจะแพ้คดีมาตลอด นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่อยากให้มองอย่างนั้น ที่สำเร็จมีหลายเรื่อง ศาลและกระบวนการยุติธรรมจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ขอให้ดูหลักฐานเป็นหลัก ไม่อยากให้คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น ส่วนคำร้องที่โยงไปถึง 6 พรรคร่วมรัฐบาล เชื่อว่าชี้แจงได้อยู่แล้ว ในวงดินเนอร์พรรคร่วมฯวันที่ 21 ต.ค. คงมีการพูดเรื่องนี้ นักการเมืองเจอกันไม่พ้นคุยเรื่องการเมือง ทานข้าวเสร็จมาคุยเรื่องการบริหารประเทศ ปัญหาของประชาชน ไม่อยากให้คิดว่ามาคุยเรื่องลับอะไร

...

“ชูศักดิ์” ฉะผลพวง รปห.ผิดธรรมชาติ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงกระแสข่าว กกต.รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม กรณีถูกร้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำพรรคว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นคำร้อง ฟังจากสื่อว่าร้อง 6 พรรคที่ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง เหมือนว่าไปจัดตั้งรัฐบาลกันที่บ้านนายทักษิณ เท่ากับถูกครอบงำการตั้งรัฐบาลอะไรทำนองนั้น ส่วนตัวไม่ได้วิตกกังวลอะไร เคยบอกว่ามาตราพวกนี้เป็นผลพวงของการรัฐประหาร สมัยก่อนๆไม่มีมาตราเหล่านี้ เป็นกฎหมายที่ผิดธรรมชาติการเมือง ต้องถามว่าอดีตนายกฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเลย พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลถูกครอบงำไหม ส่วนใหญ่กฎหมายพวกนี้จึงมีปัญหาทางปฏิบัติตลอดมา

อย่าให้การเมืองฉุดรั้งความเจริญ

“ผมว่าเอาเวลาไปใส่ใจกับการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตจะดีกว่า ยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาชัดเจนแคนดิเดตนายกฯต้องมาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น พรรคแกนนำที่เสียงมากที่สุด มีเหลืออยู่สองคน จำเป็นต้องคุยกันว่าจะเอาใครจะคุยที่ไหนเอาที่สะดวก คุยกันว่าเป็นนายชัยเกษม นิติสิริ เช้าวันรุ่งขึ้นพรรคเพื่อไทยเสนอนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร อย่างนี้ก็ชัดเจนว่าเราเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดอิสระ แล้วพรรคร่วมก็เอาตามนั้น จะครอบงำอะไร เอาเป็นว่าให้ดูประวัติศาสตร์ อย่าให้การเมืองมีปัญหา จนฉุดรั้งความเจริญของบ้านเมืองเหมือนในห้วงเวลาที่ผ่านมาดีกว่า” นายชูศักดิ์กล่าว

จาก “ชัยเกษม” จบที่ “อิ๊งค์” ไม่ครอบงำ

นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ภายในพรรค พท. ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่ส่วนตัวไม่กังวล กลับมองในแง่ดีว่าการที่มีผู้มายื่นร้อง กกต.ต้องรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะ กกต.คงเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย ที่ในข่าวระบุว่ามีมูลจึงรับเรื่องและสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต้องไปพิจารณากันอีกว่ามีมูลนั้นอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด ต้องพิจารณาองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆอย่างละเอียด ต้องดูเหตุและผล ไม่ใช่ใช้แค่ความรู้สึก การไปร้องว่าแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง จะเห็นว่าตามข่าวที่ออกมาระบุว่าคนที่จะได้เป็นนายกฯ คือนายชัยเกษม นิติสิริ แต่สุดท้ายกลับเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดังนั้นหากผู้ร้องคิดว่ามีการคุยกันเรื่องนี้จริง แสดงว่าไม่ได้มีผลอะไรเกิดขึ้น แล้วแบบนี้จะเรียกว่าครอบงำได้อย่างไร

ให้ยึดหลัก ปชต.ไม่ใช่กอดตัวอักษร

ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต. ที่รับลูกจากเหล่านักร้อง แต่ตนมองเรื่องประชาธิปไตยเป็นหลัก พรรคการเมืองเป็นสถานที่ที่ประชาชนเห็นตรงกันมาอยู่รวมกัน การที่ใครจะไปคุยกับใครเป็นหน้าที่และเป็นสิทธิของพรรคการเมือง จึงไม่ใช่การครอบงำ และคนที่ถูกกล่าวอ้างคือนายทักษิณ ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น แต่ละพรรคก็มีการบริหารโดยกรรมการบริหารพรรค นายทักษิณจึงไม่น่าจะมีอิทธิพลขนาดนั้น และเมื่อไม่ได้เสียงข้างมากพรรคเดียวก็ต้องหาเพื่อนมาร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องธรรมดา ทุกยุคทุกสมัยเป็นแบบนั้น พรรคเพื่อไทยไม่กังวลถึงเรื่องนี้ และ สส. ไม่เสียกำลังใจเพราะเรามีประสบการณ์ถูกยุบมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งประชาชนลงคะแนนมาหลายล้านเสียง อยู่ๆจะให้คนไม่กี่คนบอกให้หยุด อายประชาคมโลกเขา องค์กรอิสระควรจะวินิจฉัยเรื่องต่างๆโดยยึดหลักประชาธิปไตย มากกว่าตัวอักษรที่เขาร้องไป ประชาธิปไตยอยู่ที่เจตนารมณ์ของประชาชนไม่ใช่อยู่ตามตัวอักษรที่เขียนไว้บนกระดาษ

ปชน.ซัด รปห.เงียบเคลิ้มบัตรสนเท่ห์

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีรายงานข่าวเรื่อง คำร้องนิรนาม เป็นหนึ่งในคำร้องที่เลขาธิการ กกต.นำไปพิจารณาตั้งเเท่น สั่งสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องพูดให้ชัดว่าคำร้องนิรนามหรือคำร้องที่ภาษาชาวบ้านเรียกบัตรสนเท่ห์ เป็นหนึ่งในคำร้องที่ท่านคิดว่ามีมูลในการตั้งแท่นสอบตามรายงานข่าวจริงหรือไม่ ถ้าใช่ไปกันใหญ่ เริ่มมีอำนาจมืดลึกลับแล้วมันอันตราย แสดงว่าเป็นระบอบที่เอื้อให้เกิดรัฐประหารเงียบได้ตลอดเวลา มีแค่บัตรสนเท่ห์ 1 ใบ นอกจากนี้ บรรดานักร้องถูกตั้งคำถามจากสังคมเรื่อยมา เรื่องมีใบสั่งหรือไม่หรือเทียบเคียงกับคดีดังแชร์ลูกโซ่ พัวพันคลิปนักร้องเรื่องตบทรัพย์หรือไม่อย่างไร บัตรสนเท่ห์ไร้ตัวตนคนร้อง ยิ่งมาตรฐานต่ำกว่านักร้องอีก ถ้าสมมติมีบัตรสนเท่ห์ร้องท่านมาแบบเดียวกัน จะหยิบขึ้นมาตั้งแท่นสอบตัวเองหรือเปล่า บัตรสนเท่ห์จะเต็มบ้านเต็มเมือง

สร้างชนักปักหลัง บีบอำนาจบริหาร

เมื่อถามว่าตอนยุบพรรคก้าวไกล เรียกยุบเเบบขึ้นทางด่วนติดเทอร์โบ ยังมีตัวตนคนร้องเรียน ถ้าพรรค พท.โดนยุบพรรคจากหนึ่งในคำร้องนิรนาม ไม่มีตัวตน จะเรียกว่าอะไร นายวิโรจน์กล่าวว่า มันอาจจะไม่ได้ขึ้นทางด่วนทุกครั้ง แต่มันจะมีระบบชนักปักหลังเพื่อไปบีบ ไปต่อรองหรือไม่ แทนที่ผู้ที่ถูกเลือกมาจะมาทำงานรับใช้ประชาชน กลับถูกบัตรสนเท่ห์ นักร้องและเทวดาที่อยู่หลังม่านหยิบยกกลไกต่างๆมาบีบให้อำนาจฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้ แบบนี้ไม่ต้องตอบโจทย์ประชาชนแล้ว ไปตอบโจทย์พวกเทวดาที่ใช้นักร้องมาเป็นเครื่องมือทำลายอำนาจประชาชน

ประชดเทวดาธิปไตยชักใยหลังม่าน

นายวิโรจน์กล่าวว่า ตอนนี้มีเทวดาเยอะมาก ไม่น่าจะมีแค่ในวงการแชร์ลูกโซ่ เทวดาทางการเมืองก็มี ตกลงแล้วองค์กรอิสระ คุณรับใช้ประชาชนหรือรับใช้เทวดาที่อยู่หลังม่าน คุณรักประเทศจริงหรือเปล่า เชื่อมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขจริงหรือเปล่า หรือตกลงแล้วเคารพเสียงกังวานของเทวดาหลังม่าน ถ้าคุณฟังแต่เทวดาหลังม่าน ก็จะใช้คนอย่างพวกคุณไปข่มขู่บีบบังคับ อำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร ให้สยบยอมโดยที่ไม่ต้องฟังเสียงประชาชน แล้วอย่างนี้เรียกระบอบประชาธิปไตยหรือ เปลี่ยนชื่อเป็นระบอบเทวดาธิปไตยไปเลยดีกว่าไหม

“ประเสริฐ” ชี้ปมศึกษานิรโทษคุยกันได้

อีกเรื่อง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงปัญหาเรื่องร่างศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรมว่า พรรคการเมืองมีทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนคงจะพูดคุยกันได้ เมื่อถามยํ้าว่า สุดท้ายพรรค พท.จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างไร จะถอนร่างรายงานหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือและยืนยันว่าจะไม่เป็นปมปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะยังแน่นแฟ้นรักกัน เมื่อถามว่าสับสนหรือไม่เพราะตอนตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมเห็นพ้องกัน แต่พอเสนอรายงานพรรคร่วมรัฐบาลกลับเป็นฝ่ายไม่รับเอง นายประเสริฐกล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ สส. หลายเรื่องที่เข้าไปในสภาเคยมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน จึงไม่อยากให้มองเป็นเรื่องแปลก เพราะต่างฝ่ายมีความหวังดี ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล

“ธนกร” ขอแกนนำตกผลึกทางออก

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ตามที่เห็นในการประชุมวาระเรื่องรับทราบรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมพรรคร่วมรัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านการรวมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 ควรดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า สส.บางพรรคยังไม่เข้าใจหรืออาจจะแกล้งไม่เข้าใจในเรื่องนี้ว่าไม่ใช่การยกเลิกมาตรา 112 นั้น ตนมองว่ารัฐบาลโดยการนำของพรรค พท.ควรพูดคุยให้ตกผลึกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ต้องย้ำจุดยืนให้ชัดทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายการนิรโทษกรรม ต้องไม่แตะหมวด 1-2 รวมถึงมาตราสำคัญสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ขอพรรคร่วมรัฐบาลได้ใช้โอกาสรับประทานอาหารค่ำร่วมกันวันที่ 21 ต.ค.พูดคุยกฎหมายนิรโทษกรรมให้ชัดเจน

ปชป.ย้ำจุดยืนไม่เอานิรโทษเหมาเข่ง

นายประมวล พงถาวราเดช รองหัวหน้าและประธาน สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคเกี่ยวกับรายงานการศึกษาแนวทางการตราพระราช บัญญัตินิรโทษกรรมว่า เรื่องนี้ยังเป็นแค่การนำเสนอรายงานการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เขาศึกษามา มีความเห็นอย่างนี้ มีใครนำเสนอความเห็นอย่างไร โดยสรุปมี 3 แนวทางคือ 1.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม 2.ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม 3.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแต่มีเงื่อนไขหรือมีข้อจำกัดว่าจะเอาเรื่องอะไร ไม่เอาเรื่องอะไร แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ร่างกฎหมาย พรรค ปชป. ยืนยันว่าจุดยืนเรายังเหมือนเดิม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ก็ระบุชัดเจนแล้วว่าไม่เอาแบบเหมาเข่ง โดยมติ สส.พรรคออกมาแล้วว่าไม่เห็นด้วย เพราะรายงานดังกล่าวยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน หากส่งไปให้รัฐบาลพิจารณา อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน

ไล่กลับไปศึกษาให้สมบูรณ์กว่านี้

“โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมมาตรา 110 เกี่ยวกับ การประทุษร้ายและมาตรา 112 รวมถึงคดีทุจริตเราเห็นว่า กมธ.ควรทำการศึกษาให้สมบูรณ์กว่านี้ จะเห็นได้ว่าแค่การนำเสนอเรื่องนี้เข้าสภาฯ ความเห็นของ สส.ในที่ประชุมยังถกเถียงเห็นต่างกัน รวมถึงยังมีคนอีกมากที่เข้าใจว่าเป็นการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งที่ไม่ใช่ ยังอยู่แค่ขั้นตอนการนำเสนอรายงานที่ศึกษามาแจ้งให้สภาฯทราบ แต่มีความเห็นต่างกันมาก คนละทิศละทาง จนประธานในที่ประชุมสภาฯ ต้องสั่งปิดการประชุม แต่คาดว่าสัปดาห์หน้าคงต้องหารือต่อ” นายประมวลกล่าว

เสียงข้างน้อยโวยวืดนั่ง กมธ.ร่วม

นางนันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงกรณีไม่มีชื่อ สว.เสียงข้างน้อยเป็น กมธ.ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติว่า รายชื่อดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) แจ้งมา ต้องนำเสนอที่ประชุมวุฒิสภา วันที่ 21 ต.ค.ก่อน สว.เสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วย จะเสนอชื่อขอเป็น กมธ.ร่วมเข้าไปด้วยให้ที่ประชุมลงมติ ไม่ทราบเหตุผลที่ไม่มี สว.เสียงข้างน้อยเป็น กมธ.ร่วม แม้ตนจะเคยเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติแต่ไม่ได้รับทาบทาม ไม่มีการเสนอชื่อกลับเข้าไปเป็น กมธ.ร่วม โดยธรรมเนียมปฏิบัติควรเป็นสัดส่วนเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อยอยู่ใน กมธ. ดูแล้วเป็นการยื้อให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่สามารถดำเนินการพร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศในเดือน ก.พ.68 ได้ การตั้ง กมธ.ร่วม ทำให้กระบวนการยืดเยื้อไปเกือบปี ในการให้ พ.ร.บ.ประชามตินี้ออกมา แม้สภาฯจะยืนยันเสียงข้างมาก 1 ชั้น ไม่ทันเลือกตั้งท้องถิ่นเดือน ก.พ. รายชื่อ กมธ.ร่วม 14 คนของ สว.มีแต่ สว.เสียงข้างมาก น่าจะการันตีว่า 14 เสียงนี้ยืนยันหลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้นแน่นอน

รัฐบาลมุ่งมั่นดันไทยแนวหน้าดิจิทัล

เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานพิธีเปิดงาน Bitkub Summit 2024 ภายใต้แนวคิด “Gateway to the Future: เปิดประตูเทคโนโลยีและการลงทุน สู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืน” งานสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการลงทุนครั้งใหญ่แห่งปี ที่มีนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้นำด้านเทคโนโลยีแนวหน้าเข้าร่วมงาน โดยนายประเสริฐกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของภูมิภาค และสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นแนวทางการสร้างรายได้ใหม่ของประเทศ กระทรวงดีอีจึงกำหนดกุญแจหลักสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ สร้างเครื่องมือใหม่ๆ สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ปรับปรุงกฎหมาย และยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีแห่งอนาคต

“อิ๊งค์” ยก ครม.สัญจรนัดแรกเชียงราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงต้นเดือน พ.ย. น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกฯมีกำหนดการเยือนต่างประเทศระหว่างวันที่ 6-7 พ.ย. โดยจะเข้าประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 (8th GMS Summit of Leaders) ที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐ ประชาชนจีน จากนั้น ระหว่างวันที่ 9-16 พ.ย. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู จากนั้นช่วงปลายเดือน น.ส.แพทองธารมีกำหนดจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งแรกที่ จ.เชียงราย และลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 26 พ.ย. เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ภาคเหนือภายหลังเกิดสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ สัปดาห์หน้าจะประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางกำหนดการที่ชัดเจน

หนุน ธปท.ลดดอกเบี้ยช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่า การลดดอกเบี้ยช่วยลดภาระหนี้สินของประชาชน เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง ทำให้ผู้ประกอบการขยายกิจการได้ง่ายขึ้น แต่ต้องติดตามว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะปรับลดเงินกู้ตามหรือไม่ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ สวนทางกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมากตามประเภทการกู้ การลดดอกเบี้ยในระยะยาวอาจทำให้เสถียรภาพทางการเงินของรัฐเสี่ยง ต้องเฝ้าระวังปัญหาด้านหนี้สิน หากกู้ยืมมากเกินไปจนเป็นหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับและนโยบายคุมเข้มเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินระยะยาว

หวังรัฐใช้โอกาสช่วย SMEs เข้าถึงทุน

นายสรรเพชญกล่าวต่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม และช่วยกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หวังว่าจะประสานงานกับ ธปท.ให้เอื้อต่อการลงทุนให้ดีกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุน SMEs ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลดดอกเบี้ย เช่น ขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่ SMEs หลายราย ยังคงประสบปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะขาดหลัก ประกัน หรือมีประวัติทางการเงินไม่แข็งแรง รัฐบาลควรส่งเสริมผ่านการจัดตั้งกองทุนพิเศษหรือโครงการค้ำประกันสินเชื่อ โดยร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้ธุรกิจเหล่านี้ขยายกิจการ สร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีมาตรการภาษีจูงใจการลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษี สำหรับการลงทุนในเทคโนโลยี หรือการปรับปรุงระบบการผลิต

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่