วันเสาร์สบายๆ วันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่องเศรษฐกิจการเงินกันนะครับ วันศุกร์ที่ผ่านมามีข่าวดี ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นไปถึง 19.98 จุด ปิดที่ระดับ 1,485.01 จุด ใกล้จะถึง 1,500 จุดเต็มที หลังจากที่ กนง. คณะกรรมการนโยบายการเงิน แบงก์ชาติ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% โดยให้มีผลทันที ส่งผลให้แบงก์ต่างๆ ต้องลดดอกเบี้ยตามทันทีเช่นเดียวกัน
เหตุผลที่ กนง.ลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ก็คือ หนี้ครัวเรือนลดลง
คุณสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ กนง.คนใหม่ เปิดเผยว่า แม้ กนง.จะลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในครั้งนี้ แต่ยังไม่เห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องของ กนง. แปลความก็คือ การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง แปลความอีกที การประชุมเดือนธันวาคม กนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยอีก การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการลดและหยุดเพื่อพิจารณาผลที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การลดดอกเบี้ยครั้งนี้จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรการลดดอกเบี้ย (Easing Cycle)
คุณสักกะภพ แถลงว่า การพิจารณาลดดอกเบี้ยของ กนง. มาจากข้อมูล (อย่างที่ผมได้เขียนไปเมื่อวันพุธ) ไม่ใช่แรงกดดันทาง การเมือง การหารือกับคลังก็เป็นหนึ่งในข้อมูล น้ำหนักการพิจารณาดอกเบี้ยของ กนง. จะดูใน 3 ด้านสำคัญคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และ หนี้ครัวเรือน และน้ำหนักในการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ คือ “หนี้ครัวเรือนที่ปรับลดลง” และ คาดว่าจะยังลดลงได้อีก จากการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง และจีดีพีที่เพิ่มขึ้น
คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีคลัง ให้ความเห็นถึงการลดดอกเบี้ย ของ กนง.ครั้งนี้ว่า เป็นแนวทางที่ดีต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2567 เนื่องจากนโยบายการเงินเป็นนโยบายที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นสมดุลที่ทำให้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังสอดคล้องกัน
...
ไปดู หนี้ครัวเรือนล่าสุด กันสักหน่อยนะครับ
ข้อมูล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ระบุไปในทิศทางเดียวกับ กนง. หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 3 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี จากระดับ 90.7% ของจีดีพีในไตรมาส 1/2567 ลงมา อยู่ที่กรอบ 88.05–89.5% ของจีดีพี คาดว่าหนี้ครัวเรือนไทยยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 2567 โดยมีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในปี 2567 จะต่ำกว่า 1% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ช้ากว่าการเติบโตของจีดีพีในภาพรวม แต่ก็ยังสูงกว่าระดับ 80.0% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เคยศึกษาพบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80.0% ต่อจีดีพีติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงินได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอีกว่า แม้หนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ของประเทศจะชะลอตัว แต่อาจไม่ได้สะท้อนความสามารถในการรับมือกับภาระหนี้ในระดับครัวเรือน ดังนั้น การที่ กนง.ไม่ผลีผลามลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง จึงเป็นการลดแบบระมัดระวัง ไม่ใช่ตามแรงบีบการเมือง
ข่าวดีอีกข่าวที่ออกมาสอดคล้องกับการลดดอกเบี้ยของ กนง. ในวันเดียวกันคือ การเปิดตัว “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ของ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร รอบนี้ จะเน้นผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็น 90% ของผู้ประกอบการ หลังจากที่แจกเงินหมื่นไปแล้ว เพื่อ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” มีระยะเวลาดำเนินการ 5 เดือน จนถึงมกราคม 2568 ผมเห็นด้วยครับ การกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงบวก ถ้าทำต่อเนื่อง ไม่ว่าโครงการเล็กหรือใหญ่ ก็มีผลดีทั้งนั้น เพราะ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ครับ นายกฯต้องท่องจำให้ขึ้นใจ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม