“รมว.นฤมล” ร่วมกล่าวเปิดการประชุม Hand-in-Hand Investment Forum บนเวที FAO ชวนลงทุนภาคเกษตรไทย เพื่อสร้างระบบอาหารและเกษตรโลกยั่งยืน
วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุม FAO Hand-in-Hand Investment Forum เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นเวทีด้านความร่วมมือและการลงทุน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ในประเด็นที่มีความเร่งด่วน หรือความสนใจร่วมกัน เพื่อขจัดความยากจน ลดจำนวนผู้หิวโหย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ร่วมกับผู้แทนจาก Central American Bank for Economic Integration (CABEI) ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสภาเศรษฐกิจโลก
นางนฤมล กล่าวว่าประเทศไทยกำลังเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบอาหารและเกษตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร โดยส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
ประเทศไทยมีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี โดยมุ่งเน้นไปทางสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษี ส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนไปด้วย “Innovative” เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ “Competitive” เศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้เร็ว และสร้างการเติบโตสูง และ “Inclusive” เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
...
มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย สอดคล้องกับนโยบาย BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการส่งเสริมการลงทุนแก่ภาคเกษตรตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนยกระดับและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
นางนฤมล ได้ทิ้งท้ายว่าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย การลงทุนในภาคเกษตรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจฐานราก จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ทุกภาคส่วนเร่งแก้ปัญหาผ่านกลไกการลงทุนและความร่วมมือ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน