ประเทศไทยไม่ให้ความสนใจ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างจริงจัง ชกลมไปเรื่อยๆ จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันตกอันดับ ไม่สอดคล้องกับความต้องการในการนำเม็ดเงินลงทุนและรายได้เข้าประเทศตามเป้าหมาย

เพราะเราให้ความสนใจโครงการที่ไม่เป็นรูปธรรมมากเกินไป มุ่งแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการรักษาหน้าของรัฐบาลตามนโยบายที่ประกาศไว้ ยกตัวอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดำเนินโครงการด้วยความไม่พร้อมและไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ หน่วยงานรัฐและเอกชน ที่แจกเงินดิจิทัลไม่ได้ ต้องมาแจกเงินสดแทนก็เพราะแบงก์พาณิชย์ถอนตัวจากโครงการกะทันหัน ความหละหลวมทำให้ประสิทธิภาพของนโยบายเสียหายไปด้วย เมื่อต้นทางไม่สมบูรณ์ ปลายทางก็ไม่สมบูรณ์ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้อย่างสะดวก บัตรเอทีเอ็มหมดอายุ บัตรประชาชนหมดอายุ เดินทางไปยืนยันตัวตนไม่ได้ การจะให้ญาติรับดำเนินการใช้สิทธิ์แทนต้องขออำนาจศาล จ้างทนายความ เสียค่าทนาย ค่ารถ ค่าเดินทางหมดไปแล้ว 8 พัน ได้ใช้จริงๆ แค่ 2 พันบาท บางกรณีมีเจ้าหนี้มายืนคุมหน้าตู้เอทีเอ็ม มีหมื่นก็หมดหมื่น ไม่พอใช้หนี้ด้วยซ้ำ บางรายมองว่า เงิน 10,000 บาทเป็นลาภลอย นำไปซื้อหวยทั้งหมดผลประโยชน์ไปตกกับเจ้ามือหวยเต็มๆ ข้อเสียของการแจกเงินสด

คือไม่สามารถควบคุมทิศทางของเงินได้เลย

ยังแจกเงินหมื่นเฟสแรกไม่สำเร็จอีกกว่า 3 แสนราย เฟสสองก็ยังไม่ลงตัว จะแจกแบบเดิมหรือจะแจกเป็นเงินดิจิทัล หรือ ไม่แจกเลย เพราะรัฐบาลมองเห็นปัญหาตามมามากมายและไม่สามารถนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มร้อย โดยเฉพาะผลกระทบกับการเงินการคลังของประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจ้องตาเป็นมัน

ความขัดแย้งระหว่าง แบงก์ชาติ กับ รัฐบาล ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แค่การตั้ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แทน ปรเมธี วิมลศิริ ที่ครบวาระไปตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ถูกโฟกัสเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ มีชื่อของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็นแคนดิเดต ความเห็นของคนแบงก์ชาติและอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ ค่อนข้างจะไม่พอใจชัดเจน อาทิ ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ มองว่า จะนำไปสู่การหายนะทางเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อ ธปท. ที่ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย และคัดค้านนโยบายการแจกเงินดิจิทัล การที่รัฐบาลส่งคนของตัวเองไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เกรงว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายรัฐบาล

...

“หากภาพนี้เกิดขึ้นจริง หายนะของเศรษฐกิจไทยจะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศ ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงธนาคารกลาง” จนถึงวันนี้ระหว่างตัวแทนของแบงก์ชาติกับตัวแทนของกระทรวงการคลังยังตกลงกันไม่ได้ยืดเวลาการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ใช่กุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดพลังงาน หรือสุรพล นิติไกรพจน์ ที่แบงก์ชาติเสนอก็ไม่จบ ถ้าไม่ใช่กิตติรัตน์ รัฐบาลก็ไม่ยอม ถ้าจะเอาการเมืองนำเศรษฐกิจก็พัง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม