วันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบงก์ชาติ จะมีการประชุมพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายนัดรองสุดท้ายของปี นักวิเคราะห์และรัฐบาลต่างจับจ้องไปที่ผลการประชุมของ กนง.จะออกหัวหรือออกก้อย กนง.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยตามแรงกดดันของรัฐบาลเพื่อไทยที่กดดันมาตลอดหรือไม่ หลังการประชุม กนง.จะมีการแถลงข่าวทันที
ส่วนการประชุมของ คณะกรรมการสรรหาประธานแบงก์ชาติคนใหม่ เดิมมีกำหนดจะประชุมในวันนี้เช่นเดียวกัน แต่ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 4 พฤศจิกายน เพื่อรอข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้เสนอ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้าชิงเก้าอี้ประธานแบงก์ชาติว่า ยังมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็นก็ถือว่าขัดต่อกฎหมายแบงก์ชาติ เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่ได้
การประชุม กนง.วันนี้ เป็นนัดที่ 5 นัดรองสุดท้าย นัดสุดท้ายจะประชุมในวันที่ 18 ธันวาคม การประชุมนัดนี้เป็นนัดที่ กนง. คงอึดอัดใจมากที่สุด ถ้าตัดสินใจลดดอกเบี้ย ก็จะถูกหาว่ายอมตามแรงกดดันของรัฐบาล ยอมให้การเมืองแทรกแซง ถ้าไม่ลดดอกเบี้ย ก็จะถูกหาว่าแบงก์ชาติขัดขวางนโยบายของรัฐบาล แต่ผมเชื่อใน กนง.ว่า จะพิจารณานโยบายดอกเบี้ยด้วยเหตุและผลทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง การประชุมนัดก่อนหน้านี้ กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50
วันนี้ผมจะเล่าถึง กลไกการพิจารณานโยบายดอกเบี้ยของ กนง. มีขั้นตอนอย่างไร
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ก่อนการประชุม กนง. แต่ละนัด จะมีการเตรียมข้อมูลเป็นขั้นตอนถึง 7 ขั้นตอน เพื่อเสนอ กนง.พิจารณา เริ่มจากการ “กำหนดประเด็น” เป็นขั้นตอนแรก โดยทีมงานแบงก์ชาติจะเริ่มศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นหลังการประชุม กนง.
2 สัปดาห์ แล้วลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อเก็บข้อมูล ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งเป็นข้อมูลจากภาคธุรกิจตัวจริง ขั้นตอนที่ 2 เป็นการ พยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ (3 สัปดาห์ก่อนการประชุมของ กนง.) โดยการกำหนดข้อสมมติทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมัน จำนวนนักท่องเที่ยว เป็นต้น ขั้นตอนที่ 3 เป็นการ สรุปข้อมูลภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ (2 สัปดาห์ก่อนการประชุม) เพื่อจัดทำเอกสารสรุปภาวะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่งให้กรรมการศึกษาล่วงหน้า 1 สัปดาห์
...
เมื่อ ส่งเอกสารสรุปให้ กนง.แล้ว ทุกคนในแบงก์ชาติจะเข้าสู่ภาวะ “การรูดซิปปาก” หรือ Silent Period ห้ามพูดเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อ เกรงว่าจะเป็นการชี้นำได้
ขั้นตอนที่ 4 เป็นการ จัดทำข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายการเงิน (1 สัปดาห์ก่อนการประชุม) ผู้บริหารแบงก์ชาติจะร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายการเงินที่เหมาะสม (Policy Recom mendation Meeting) แบงก์ชาติทั่วโลกก็ทำกันแบบนี้ ขั้นตอนที่ 5 การประชุม กนง.วันแรก กรรมการจะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจและการเงิน ทั้งของโลกและของไทย และประเด็นสำคัญอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีการหารือถึงสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมถึงผลที่มีต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ขั้นตอนที่ 6 การประชุม กนง.วันที่สอง เป็น “วันตัดสินนโยบายการเงิน” กนง.แต่ละท่านจะพิจารณาทางเลือกและหารือถึงนโยบายที่เหมาะสม จากนั้นก็จะ ลงคะแนนเสียงพร้อมให้เหตุผล แล้วร่วมกันร่างแถลงข่าวผลการประชุมร่วมกัน
และ ขั้นตอนที่ 7 แถลงข่าวผลการประชุม ที่กรรมการทุกคนเห็นชอบ
ผมก็เอาขั้นตอนมาเล่าสู่กันฟัง การตัดสินใจนโยบายดอกเบี้ยของ กนง.ยากกว่ามติ ครม.เยอะ มติ ครม.ยังมี กระทรวงใครกระทรวงข้าห้ามแตะ แต่ กนง.ทำอย่าง ครม.ไม่ได้ การประชุม กนง.วันนี้หลายสำนักก็คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ย บางสำนักก็คาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย 0.25% ส่วนความเห็นผมอยู่ที่ 50-50 ลดหรือไม่ลดบ่ายวันนี้ก็รู้ผลแล้วครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม