“พ.ต.อ.ทวี” แจง ออกหมายแดง “พล.อ.พิศาล” เป็นอำนาจอินเตอร์โพล รับ อยากช่วยเหลือประชาชนทางแพ่งกรณีดิไอคอนกรุ๊ป บอก มีช่องคืนเงินได้ ด้าน “วราวุธ” เผย พม. รอตำรวจสรุปคดีก่อนพิจารณาเยียวยาผู้เสียหายกลุ่มเปราะบาง

วันที่ 15 ตุลาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีมีการเรียกร้องให้ออกหมายแดง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในคดีตากใบ ว่า การออกหมายแดงเป็นอำนาจของอินเตอร์โพล หรือ ตำรวจสากล ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยหลักการน่าจะเข้าเกณฑ์การขอความร่วมมือ ส่วนตัวติดตามเรื่องนี้อยู่กรณีของคดีตากใบรัฐบาลเห็นใจประชาชน อยากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ขณะนี้เหลือเวลาอีก 10 วัน

พ.ต.อ.ทวี ระบุต่อไปว่า อยากทำความเข้าใจเรื่องในพื้นที่ภาคใต้ เราจะแบ่งเป็นคดีความมั่นคง และคดีที่ไม่ใช่ความมั่นคง ซึ่งจากสถิติตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เรามีคดีความมั่นคงที่ออกหมายจับ 7,878 คดี จับกุมได้ประมาณ 4,000 กว่าคดี หรือประมาณ 51% และสำหรับคดีตากใบ เราแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคืออัยการสั่งฟ้อง 7 คน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่ศาลรับฟ้องตามที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตยื่นฟ้อง 7 คน จำนวนทั้งหมดนี้ซ้ำกัน 1 คน หน้าที่ของตำรวจ เมื่อมีหมายจับต้องนำตัวผู้ที่ถูกจับไปดำเนินคดีกับศาล เรื่องนี้เป็นช่วง 10 วันสุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่าทางกระทรวงยุติธรรมสามารถประสานกับอินเตอร์โพลเองได้ หรือให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า เรื่องนี้มีช่องทางอยู่แล้ว ปกติจะมีช่องทางพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคืออินเตอร์โพล ซึ่งเหมือนคดี แป้ง นาโหนด

...

ส่วนคดีดิไอคอนกรุ๊ปจะมีการพิจารณาเป็นคดีพิเศษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า เท่าที่ฟังตำรวจได้มีการดำเนินการในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ยังไม่ได้มีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือที่เรียกว่าแชร์ลูกโซ่ คดีฉ้อโกงประชาชน เป็นอำนาจของตำรวจสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่อาจจะมีเกณฑ์ และถ้าเป็นห่วงเรื่องการสอบสวนคดีนี้ว่าการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบ ถ้าจะเป็นคดีพิเศษก็สามารถทำได้ แต่คดีลักษณะนี้เราอยากจะเอาทรัพย์สินมาให้เหยื่อมาให้ผู้เสียหาย ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้สั่งการให้ทำเรื่องฟอกเงินอยู่แล้ว ถ้าจำนวนเงินเกิน 300 ล้านบาท เราจะไปตรวจสอบเส้นทางการเงิน ถ้าหลักฐานการฟอกเงินเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนแล้วตำรวจต้องการเราก็จะส่งให้ หรือถ้าตำรวจจะใช้ช่องทางคดีพิเศษ อย่างเช่น เอาอัยการมาร่วมสอบสวนเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ เราก็จะนำไปเป็นคดีพิเศษ สิ่งสำคัญคือขณะนี้อยากช่วยเหลือประชาชนทางแพ่ง อยากจะฟ้องคดีเป็นกลุ่ม หรือคดีคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจะตามทรัพย์สินให้ เพราะสิ่งสำคัญคือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีความสำคัญมาก

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าขณะนี้มีหน่วยงานที่จะตามทรัพย์สินเหล่านี้แล้วใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี เผยว่า เบื้องต้นทราบว่าทรัพย์สินเหล่านี้อยู่ในส่วนของถาวรวัตถุ หรือวัตถุเยอะ ตรงนี้ก็อาจจะมีคืนเงินได้ และอาจจะมากกว่า 700 ล้านบาท สามารถเอาทรัพย์ตรงนี้ให้ประชาชน เมื่อถามถึงเรื่องที่ผู้เสียหายกังวลว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนี้มีคนที่เป็นอัยการและตำรวจด้วย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดทุกคดีคือความเชื่อมั่นของประชาชน คนทำงานต้องไม่อคติ อาจจะอคติเพราะความชอบหรืออคติเพราะความผูกพัน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้พยายามที่จะยกระดับไม่อคติกับทุกเรื่อง

ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งบุคคลที่เป็นกลุ่มเปราะบางบางส่วน ได้รับผลกระทบ โดยทราบมาว่ามีคนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งภารกิจของกระทรวง พม. มีหน้าที่ในการดูแลพิทักษ์สิทธิของคนพิการ ถ้าหากว่าโดนละเมิดสิทธิหรือว่าไม่สามารถใช้สวัสดิการของรัฐได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวเข้าใจว่าเป็นกรณีที่อยู่ภายใต้การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นการทุจริตจะเป็นการหลอกลวงหรือไม่อย่างไร ซึ่งคงต้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีข้อสรุปเสียก่อน แล้วก็จะได้มาพิจารณาว่าคนพิการที่โดนผลกระทบนั้น โดนละเมิดสิทธิหรือว่ามีปัจจัยใดที่ทางกระทรวง พม. จะเข้าไปช่วยดูแลได้

ดังนั้น ตอนนี้เมื่อคดียังไม่ได้ถึงที่สุด ขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการก่อน แต่หากว่าพี่น้องคนพิการเดือดร้อนมาอย่างไรจะขอหารือกับศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) สายด่วน พม. 1300 ว่าเราสามารถช่วยเหลือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องทนายความได้หรือไม่อย่างไร เพราะว่าที่กระทรวง พม. เรามีเป็นนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นประโยชน์นักกับกรณีที่เกิดขึ้นคงต้องขอไปดูในรายละเอียดก่อน.