การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยประกาศว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้แก้ไขไม่ได้ นอกจากอาจจะแก้ไม่สำเร็จแล้ว ยังอาจกลายเป็นชนวนขัดแย้งรุนแรง ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย ตามคำเตือนของนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ จากพรรคเพื่อไทย

สส.ครูมานิตย์เตือนว่า ใครๆ ก็รู้ว่าใครมีอำนาจกดปุ่ม สว. ที่จะทำให้การแก้ไขสำเร็จหรือล้มเหลว หลังจากที่วุฒิสภาลงมติหักหน้าสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการแก้ไขมติสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว แก้เป็นสองชั้น จึงต้องตีกลับสภาผู้แทนฯให้ลงมติกันใหม่

แม้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ จะยืนยันมติเดิม แต่มี สส.พรรคภูมิใจไทย เกือบทั้งพรรคยกมือสนับสนุนมติ สว. ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเสวนา เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เห็นได้ชัดว่าพรรคภูมิใจไทยแสดงอำนาจ เริ่มตั้งแต่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นจริยธรรม นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต้องสอนว่าเป็นนักการเมืองต้องยอมรับการตรวจสอบ

คำสอนของผู้นำพรรคภูมิใจไทยเรื่องนี้ ทำให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในยุคเศรษฐา ทวีสิน ต้องประกาศถอยดีกว่า ไม่ยอมแก้ไขเรื่องจริยธรรม แต่ยังจะแก้ไขทั้งฉบับต่อ แม้แต่พรรคประชาชน ผู้นำฝ่ายค้าน ก็ยอมถอยประเด็นจริยธรรม แต่ยังเดินหน้ามาตราอื่นๆ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจเป็นเรื่องแปลกประหลาด และพิสดาร ตามฉายาของรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดความเห็นต่างระหว่างพรรคแกนนำ กับพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ และอาจกลายเป็นการจับมือกันระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาล กับผู้นำฝ่ายค้านในสภา ที่มีความเห็นตรงกันในหลายเรื่อง เช่น แก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขบางมาตรา

การแก้ไขไม่มีทางสำเร็จ ถ้ามีผู้มีอำนาจบารมีในการ “กดปุ่ม สว.” ขณะนี้คนไทยทั่วไปยังไม่รู้หมายถึงใครกันแน่ น่าจะร้องขอให้บรรดา “นักร้อง” ผู้รักประเทศและประชาธิปไตยให้ช่วยกันตรวจสอบ ผู้มีอำนาจกดปุ่มคือใคร? การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจล้มเหลว ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สว. ทั้งในขั้นประชามติและขั้นสุดท้าย

...

ถ้าการจัดทำกฎหมายประชามติล่าช้า (ถ้าไม่ตามใจ สว.) จะทำให้ทุกอย่างล่าช้า จนไม่อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด การแก้ไขจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงขึ้นไป มิฉะนั้นร่างแก้ไขจะถูกคว่ำ แม้จะได้รับการสนับสนุนจาก สส. 500 คนทั้งสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้พิสดารกลายเป็นวิตถาร.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม