โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ชักตะพานแหงนเถ่อมา 5 ปีเต็ม
จนป่านนี้ยังไม่ได้เริ่มตอกเสา เข็มซักโป๊กเดียว!!
“แม่ลูกจันทร์” สรุปย่อๆว่าโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินมูลค่า 224,544 ล้านบาท ระยะทาง 220 กม. บริษัทเอเชีย เอราวัน ของกลุ่มซีพี ชนะประมูลตั้งแต่ปี 2561
ปี 2562 มีการเซ็นสัญญาร่วมทุนอย่างเป็นทางการ
โดยฝ่ายเอกชนจะได้สัมปทาน
ผลประโยชน์ระยะยาว 50 ปี
พ่วงสิทธิบริหารโครงการรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อีก 50 ปี
เรียกว่าได้สัมปทานแพ็กคู่ทูอินวัน
แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการต้องค้างเติ่งมาถึง 5 ปี
เนื่องจากฝ่ายเอกชนขอแก้ไขสัญญาใหม่ อ้างว่าผลกระทบจาก วิกฤติโควิดระบาด ทำให้เกิดอุปสรรคในการจัดหาเงินลงทุน
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงติดแหง็กมาถึง 4 รัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 1 รัฐบาลประยุทธ์ 2 รัฐบาลเศรษฐา จนมาถึงรัฐบาลแพทองธาร
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็น “จุดขาย” ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจอีอีซีสามารถเดินหน้าต่อไปได้
รัฐบาลต้องยอมแก้ไขสัญญาตามข้อเสนอของฝ่ายเอกชน
ภายใต้หลักการว่ารัฐบาลไม่เสียประโยชน์มากเกินไป
และฝ่ายเอกชนไม่ได้ประโยชน์มากเกินควร
ล่าสุดที่ประชุมบอร์ดเขตเศรษฐกิจอีอีซี ซึ่งมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
โดยเปลี่ยนแปลงจากสัญญาเดิม 2 ประเด็น
1,ยอมแก้เงื่อนไขที่กำหนดว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ปีที่ 6 หลังก่อสร้างเสร็จเปิดรับผู้โดยสารอย่างเป็นทางการ
...
เปลี่ยนเป็นรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง และจะทยอยจ่ายเป็นงวดๆตามความก้าวหน้าของโครงการ
โดยฝ่ายเอกชนจะวางแบงก์การันตี วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท เป็นหลักประกันว่าจะเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงได้ภายใน 5 ปีจากนี้ไป
2,ยอมให้ผ่อนชำระสิทธิร่วมทุนโครงการรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากสัญญาเดิมที่กำหนดให้จ่ายทั้งก้อน 10,671 ล้านบาทครั้งเดียว
ยินยอมให้เอกชนแบ่งชำระเป็น งวดๆ ภายใน 7 ปี
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่าขั้นต่อไป รองนายกฯและ รมว.คลัง จะเสนอให้ประชุม ครม.ลงมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้โครงการรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเดินหน้าต่อไป
หลังหมอบกระแตมา 5 ปี
หากรัฐบาลไม่ยอมไฟเขียวให้แก้ไขสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องแช่เบ้าต่อไปอีกหลายปี
หรืออาจต้องล้มโครงการไปเลย??
“แม่ลูกจันทร์” มองว่าการยอมแก้ไขสัญญาย้อนหลัง
แม้ทำให้ฝ่ายเอกชนได้ประโยชน์ มากกว่าสัญญาเดิม
และทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์น้อยกว่าสัญญาเดิม
แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเกิดประโยชน์อย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว...ก็ต้องไหนๆ ไปอย่างนี้แหละโยม.
แม่ลูกจันทร์
คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม