“รองนายกฯ ภูมิธรรม” นำถก ศปช. กางบทเรียนน้ำท่วมเชียงใหม่ - เชียงราย ยกเป็นโมเดลป้องกันน้ำท่วม ยัน ไม่ใช่การบริหารผิดพลาด แต่เป็นเหตุไม่เคยเกิดขึ้นหนักขนาดนี้มาก่อน ชี้หลายพื้นที่ท่วมอยู่แล้ว ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษเหมือนปี 54 สั่งให้ ก.เกษตรฯ ทำแผนฟื้นฟูพืชผลครอบคลุมทั้งปี

วันที่ 8 ต.ค. 2567 ที่ห้องประชุม 108 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) แถลงผลการประชุมว่าที่ประชุมมีการประมวลวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน เพื่อแก้ไขให้เกิดความคืบหน้ามากที่สุด โดยมีการประชุมร่วมกับศูนย์บัญชาการส่วนหน้าเชียงราย และเชียงใหม่ ทางออนไลน์ด้วย ซึ่งได้แจ้งประเด็นต่างๆ 5 ข้อสำคัญ คือ

1. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าน้ำท่วมอำเภอเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากมีฝนตกหนักในวันที่ 3 และ 4 ตุลาคม ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่ริม ซึ่งฝนตกมากที่สุด ตามสถิติถือว่าหลายร้อยปีจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงเหตุอุทกภัยที่ อ.แม่สาย ก็ไม่เคยเกิดดินโคลนถล่มครั้งนี้ถือว่าเหตุการณ์ใหญ่มาก ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช่ความผิดพลาดของหน่วยราชการหรือการบริหารจัดการใดๆ ทั้งสิ้น ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในวิถีที่ควรจะเกิด แต่เกิดจากสภาวะโลกร้อน และหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องจึงต้องรับไว้เป็นบทเรียน โดยเราต้องสร้าง 2 โมเดล คือ โมเดลที่เชียงใหม่ และโมเดลที่เชียงราย ซึ่งอยากให้สื่อเข้าใจจุดนี้เพื่อติดตามสถานการณ์ และประเมินร่วมกันไปกับเรา

2. จากเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งเมื่อน้ำมาถึงอำเภอเมืองเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างระบบป้องกันเมืองด้วยเขื่อนขนาดเล็ก โดยขอให้กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดเชียงใหม่ไปดูเรื่องนี้
3. น้ำจากอำเภอเชียงดาวมาถึงอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลา 30 ชั่วโมง อำเภอแม่แตง 16 ชั่วโมง และอำเภอแม่ริม 6 ชั่วโมง ซึ่งการเดินทางของน้ำค่อนข้างยาว และเมื่อประมาณระดับน้ำที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าลำน้ำปิงตื้นเขินคดเคี้ยวมาก เกิดจากธรรมชาติ และการบุกรุก จึงสั่งให้กรมโยธาธิการ กรมเจ้าท่า และกรมปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาหาทางแก้ไขเรื่องเส้นทางน้ำเพื่อให้เกิดความสะดวกในการระบายมากขึ้น
4. ฝนที่ตกถึง 5 วันในลุ่มน้ำปิง และพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 14 แห่ง ในฐานะที่เป็นลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 1B แต่ไม่สามารถซับน้ำได้ดีเหมือนในอดีต และปรากฏว่ามีการทำกินในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกต้องถึง 5% จึงอยากให้กรมอุทยานฯ และกระทรวงมหาดไทย ได้ฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง
5. เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นกึ่งเชิงวิชาการหลายแขนง เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจภูมิประเทศตลอดจนโครงสร้างสังคมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงขอให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาศปช. พิจารณาศึกษาดูว่าจะมีคณะกรรมการอะไรบ้าง ซึ่งจะดูทั้งแผนระยะยาว และเฉพาะหน้า โดยให้เตรียมการให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกหรือหากเกิดขึ้นก็แก้ไขได้อย่างเหมาะสมทำให้ความเสียหายไม่มาก

...

“จากทั้งหมดที่ประชุมมาพบว่าพื้นที่ต่างๆ ระดับฟื้นฟูได้ดีขึ้นตามลำดับ ผลกระทบแม่สาย 753 หลังดอกฟื้นฟูได้แล้ว 418 หลังหรือเป็น 56% ที่เหลืออยู่ก็จะเร่งให้ความมั่นใจว่าภายในวันที่ 31 ต.ค. จะให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำในขณะนี้ยืนยันได้ว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เหตุการณ์แบบปี 54 จะไม่เกิดขึ้น ตรงนี้เราต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น เพราะจากการประเมินฝนค่อยๆ หยุดตกแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนภูมิพล ก็สามารถรองรับน้ำได้ขณะที่เราจัดความสมดุลในการระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำขังพื้นที่ส่วนบนของเขื่อนมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ปล่อยน้ำให้พอดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหรือจังหวัดที่อยู่ใต้เขื่อนมากเกินไปเช่นกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าพื้นที่ริมน้ำ และพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ที่ท่วมอยู่แล้ว ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษเหมือนปี 54 จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าภาพน้ำท่วมปี 54 จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และอยากให้โซเชียลฯ ทั้งหลายกระจายข่าวแบบมีข้อมูลที่เป็นจริงไม่สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนเรื่องสัตว์ป่า และเรื่องช้างที่เลี้ยงปางที่แม่แตง เราได้จัดการอย่างดีที่สุดเรียบร้อย มีอาหารพระราชทานเพียงพอในการดูแลช้าง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเร่งด่วนมีช้างจำนวน 9 เชือกที่มีความเครียดดุร้ายเขาจึงล่ามโซ่ไว้ และสูญเสียไปบ้างเข้าใจว่า 2 เชือก แต่ที่เหลือร้อยกว่าเชือกทั้งหมดอยู่ในที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการเสนอให้มีการฟื้นฟูอาชีพต่างๆ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีอำนาจโดยตรง แต่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงประสานไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะเสนอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ หลังจากนี้เป็นลักษณะการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร ซึ่งกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักปลัดสำนักนายกฯ และกฤษฎีกา ได้ช่วยกันพิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้ได้มอบให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นต้นเรื่องในการพิจารณา โดยขอให้มองเป็นสองส่วนคือส่วนที่เป็นแผนตลอดทั้งปี และแผนเฉพาะหน้า