“วราวุธ” เผย มวลน้ำบีบสุพรรณบุรี ทั้งเหนือ-ใต้-ออก-ตก หวั่น ช่วง ต.ค. น้ำทะเลหนุนสูง อาจส่งผลให้น้ำขึ้นและระบายไม่ทัน ยอมรับเป็นห่วง คอยจับตาดูตลอด

วันที่ 8 ตุลาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงสถานการณ์น้ำล่าสุดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า น้ำจากทางทิศตะวันตกเข้ามาสุพรรณบุรี และเจอน้ำที่ฝนตกลงมา บวกกับน้ำเหนือที่ลงมาอีก จึงอาจส่งผลให้น้ำขึ้นสูงและระบายไม่ทัน น้ำเหนือที่หลากลงมากับน้ำที่ทางชลประทานผันลงมา

นอกจากแม่น้ำท่าจีนแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีผลกระทบกับสุพรรณบุรีเช่นกัน ในลักษณะที่ว่า เจ้าพระยาจะไปกระทบที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งอ่างทองมีแม่น้ำน้อยประกบอยู่ แต่เมื่อล้นจากแม่น้ำน้อย จะเข้ามาทางทิศตะวันออกของสุพรรณบุรี ฉะนั้น สุพรรณบุรีจะถูกรับน้ำทั้งตะวันออกและตะวันตกในกรณีที่น้ำเยอะจริงๆ และหากมีน้ำเหนือจากข้างบนลงมาอีกจะยิ่งระบายยาก บวกกับตอนนี้เป็นเดือนตุลาคม ถ้ามีน้ำทะเลหนุนสูงจะถูกรับน้ำทั้งทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ซึ่งจะมารวมกันอยู่ที่สุพรรณบุรี

...

นายวราวุธ ระบุต่อไปว่า น้ำในจังหวัดสุพรรณบุรี อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแบบปัจจุบันทันด่วนเหมือนทางภาคเหนือ ซึ่งทางภาคเหนือน้ำมาแบบตูมเดียวพังแล้วไหลไปเลย แต่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ ทางด้านน้ำที่สุพรรณบุรีจะเป็นลักษณะน้ำปล่อยเข้าทุ่งแล้วเอ่อขึ้นเรื่อยๆ และอยู่เป็นเดือนๆ ประมาณ 2 เดือน บางครั้งถึง 3 เดือน ดังนั้น การเร่งระบายน้ำลงอ่าวไทยจึงเป็นปัจจัยที่จะทำให้น้ำลงเร็ว เพราะน้ำข้างบนจะลงมาเรื่อยๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนจึงต้องลงพื้นที่ไปดูที่จังหวัดสุพรรณบุรีว่าสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำอยู่ในเซฟโซนระดับไหน และยังห่างจากขอบสันเขื่อนอีกเท่าไหร่

“ขณะนี้จังหวัดสุพรรณบุรีน้ำเริ่มท่วมแล้ว ซึ่งเคยท่วมหนักที่สุดคือปี 2554 หลังจากนั้นมีน้ำท่วมมาอยู่เรื่อยๆ และเราได้มีมาตรการป้องกัน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือทุกปีระดับน้ำจะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในตัวเทศบาลเมืองนั้นต้องขอขอบคุณพ่อบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 พอสุพรรณบุรีเคยเจอน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2549 จากนั้นได้มีการประชุมร่วมกับทางจังหวัด และมีการของบประมาณจากกรมโยธาธิการ เพื่อทำสันเขื่อนกั้นริมตลิ่งในเขตเทศบาลเมือง ซึ่งถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของสุพรรณบุรี เหมือนกรุงเทพฯ ที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเราไม่สามารถให้น้ำท่วมได้ จึงทำเขื่อนกั้นน้ำไว้ ตั้งแต่ปี 2549 และจนถึงวันนี้ในเขตเทศบาลยังปลอดภัยอยู่ แต่เขื่อนนี้ช่วงหลังๆ มาที่ปริมาณน้ำสูงขึ้น เหลืออีกเพียงไม่ถึงคืบก็จะล้นสันเขื่อนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงและต้องคอยจับตาดูตลอด”