กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ภาพข่าวและคลิปวิดีโอ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร นั่งอ่านสคริปต์บนไอแพดระหว่าง “การหารือสองต่อสอง” ที่ภาษาการทูตเรียกว่า “Four eyes meeting” กับ ประธานาธิบดีอิหร่าน ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
งานนี้ไม่ต้องรอให้ องครักษ์พิทักษ์อิ๊งค์ ระดับรัฐมนตรีที่ดาหน้าออกมาแก้ตัวแทน นายกฯแพทองธาร โพสต์โต้ทันทีว่า “ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ รบกวนดูข่าว+หาข้อมูลเยอะๆนะคะ เวลาประชุมแบบนี้ ทั่วโลกเค้าอ่านกันค่ะ มันเป็น commitment เป็นสิ่งที่ต้องบันทึกค่า อ่านทุกคน ตั้งแต่ sheikh ถึง minister เลยค่ะ ลองหาข้อมูลเพิ่มดูเนาะ ถ้าเป็น bilateral ส่วนใหญ่จะจดหัวข้อไป แล้วก็พูดคุยกันแบบไม่ต้องอ่าน จะเกิดการสร้าง connection ที่ดีค่ะ ดูแค่หัวข้อให้ครบถ้วน ไม่มีใครแย่กว่าใครหรอกค่ะ ทุกคนมีความสามารถกันคนละด้านค่ะ เปิดใจกว้างๆ ลองให้โอกาสตัวเอง ลดอคติลง จะมีความสุขขึ้นค่ะ”
ต่อมา นายกฯแพทองธาร โพสต์ต่อว่า “ชี้แจงนิดหน่อยละกันเนาะ คือตอนก่อนไปก็เตรียมตัวค่ะว่า ต้องอ่านหรือต้องเป็นรูปแบบไหน คนอื่นเค้าทำกันยังไง ไม่ใช่ไปเฉยๆ ไม่ทำการบ้านค่า งานระดับประเทศ จะไปแหวกแนวคนอื่นเค้าคงไม่ใช่”
ผมก็ไปทำการบ้านดู “หลักพิธีการทูต” ของประเทศไทยที่ใช้เป็นมาตรฐานกับทุกกระทรวง มีรายละเอียดยิบทุกเรื่องตั้งแต่ มารยาททางการทูต เช่น การแต่งตัวให้ถูกต้องในพิธีการต่างๆ มารยาทในการนั่งรถยนต์ของผู้นำ ไปจนถึง การเข้าเยี่ยมคารวะและการหารือข้อราชการ ผู้นำต้องทำตัวอย่างไร รูปแบบหนึ่งที่สำคัญในการเจรจาระหว่างประเทศก็คือ การหารือแบบส่วนตัวของผู้นำ ที่เรียกกันว่า Four eyes meeting การหารือกันแบบนี้จะมีขึ้นหลังการประชุมเป็นทางการ (ซึ่งใช้วิธีอ่าน) หรือหลังการหารือแบบทวิภาคีแล้ว
...
การหารือแบบตัวต่อตัว Four eyes meeting ก็คือ การพูดคุยส่วนตัวระหว่างผู้นำสองประเทศ ไม่มีลูกทีมร่วมด้วย ไม่มีการจดบันทึกการหารือ ดังนั้น การนั่งอ่านข้อมูลบนไอแพด โดยผู้นำอีกประเทศนั่งฟัง จึงไม่ใช่การทูตแบบ Four eyes ที่ถูกต้อง เพราะ การทูตแบบตัวต่อตัว (Four eyes) สามารถพูดได้ทุกเรื่องที่ไม่สามารถพูดเป็นทางการได้ ไม่ว่าการล็อบบี้หรืออยากจะให้ช่วยในบางเรื่อง สามารถพูดได้หมด ไม่มีการจดบันทึกเป็นหลักฐาน
ผมหวังว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะอธิบายเรื่อง การทูตแบบ Four eyes ให้ นายกฯแพทองธาร เข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่แก้ตัวแทนเอาหน้า
เพราะวันที่ 9-11 ตุลาคม นายกฯแพทองธาร ต้องเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ภายใต้แนวคิด “ASEAN : Enhancing Connectivity and Resilience
อาเซียน : เพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน” งานนี้เป็นงานใหญ่มากและเป็นครั้งแรกของนายกฯ ไม่เพียงประชุมกับผู้นำ 10 ชาติอาเซียน แต่ยังต้องหารือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับ ประเทศมหาอำนาจคู่เจรจา อย่าง จีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหประชาชาติ อีกด้วย ท่าทีกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของไทยในเรื่องต่างๆเหล่านี้ จึงต้องชัดเจนและสำคัญอย่างยิ่ง นายกฯต้องเข้าใจเรื่องทั้งหมด และมียุทธศาสตร์ในการเจรจา จะมานั่งอ่านจากไอแพดไม่ได้ ต้องเปิดหน้าเจรจาด้วยท่าทีที่ชัดเจน
ผมเข้าใจว่า การหารือแบบ Four eyes น่าจะมีขึ้นอีก (แต่หาข้อมูลในเว็บกระทรวงต่างประเทศไม่ได้เลย) การเตรียมตัว ให้พร้อมในทุกนโยบายสำคัญของ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร จึง สำคัญอย่างยิ่ง เวทีนี้กี่พี่เลี้ยงก็ช่วยไม่ได้.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม