ต้องถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจและการเมือง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นประชาชน ผ่านทางนอร์ทกรุงเทพโพล พบว่า คนส่วนใหญ่มีความสุขเพิ่มขึ้นถึง 63.8% จากผลการบริหารของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในเวลาไม่ถึงเดือน เริ่มตั้งแต่แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 13 กันยายน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ แถลงว่า นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นในการทำงานด้วยความตั้งใจ คำนึงถึงความสุขของประชาชนเป็นหลัก ทำให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น 63.8% ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก 23.4% มีความสุขใกล้เคียงเดิม 16.4% ลดน้อยลง 14.7% ลดน้อยลงมาก 5.1% ทำให้คนไทยมีความสุขมากขึ้น มีฐานะทางการเงินดีขึ้นเป็นผลการทำงานแบบมีภาวะผู้นำ เร่งแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม

ผลของนอร์ทกรุงเทพโพล ซึ่งบรรดาคอการเมืองอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อนี้ หนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวข่าวว่า “รัฐบาลตีปี๊บโพลระบุคนไทยมีความสุข” ไม่ทราบว่าน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับ “นิด้าโพล” ก่อนหน้านี้ที่เปิดเผยผลสำรวจว่า น.ส.แพทองธาร ได้คะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 เป็นครั้งแรก นับแต่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง

ผลงานของนายกรัฐมนตรี ทำให้คนไทยมีความสุขและรวยขึ้นจริงหรือ ต้องฟังความเห็นของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2567 อาจโตน้อยกว่า 3% เป็นระดับนี้ติดต่อกันมา 6 ปี จะทำให้คนไทยร่ำรวยขึ้นหรือไม่

หลังจากร่วมประชุมกับคณะที่ปรึกษาคณะใหม่เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานข่าวว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะขจัดความยากจนให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทยภายใน 3 ปี ที่เป็นรัฐบาล แต่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ไม่เชื่อว่าจะทำได้ ขณะนี้เส้นความยากจนของคนไทยอยู่ที่มีรายได้ 2,997 บาทต่อเดือน มีคนที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ 4.5 ล้านคน

...

ขณะนี้มีคนไทยที่ถือบัตรสวัสดิการรัฐ 14.5 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน น่าจะเป็นกลุ่มประชาชนที่เรียกกันว่า “กลุ่มเปราะบาง” หรือไม่ ที่คอยรับเงินสวัสดิการต่างๆจากรัฐ และอาจเพิ่งจะได้รับเงินแจกคนละ 1 หมื่นบาทเมื่อเร็วๆนี้ ที่รัฐบาลอ้างว่าจะเป็นพายุหมุนเงินถึง 4 รอบ แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้จีดีพีโตถึง 1%

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการแจกเงินให้คนจนจะไม่สามารถขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ เคยมีตัวอย่างบางรัฐบาลที่ผ่านมา สัญญาว่าจะขจัดความยากจนให้สิ้นไปภายในหนึ่งปี แต่นอกจากจะไม่สามารถทำตามสัญญาแล้ว ยังทำให้จำนวนคนจนเพิ่มมากขึ้น จากเพียงไม่กี่ล้านคน กลายเป็นอย่างน้อยกว่า 14 ล้านคนในวันนี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม