“จิรายุ” เผย ศปช. สั่งการ ศปช.ส่วนหน้า เพิ่มกำลังเข้าพื้นที่เร่งแก้ปัญหาอุทกภัย จ.เชียงใหม่ทันที หลังสถานการณ์แม่น้ำปิงยังน่าเป็นห่วง ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง 3 - 6 ต.ค. พร้อมเตือน 11 จังหวัด ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ท่าจีน ป่าสัก สะแกกรัง เจ้าพระยา อาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 

วันที่ 5 ต.ค. 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม(ศปช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำปิงยังน่าเป็นห่วง ขอให้ ศปช.ส่วนหน้าที่จ.เชียงรายประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเร่งเข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่จ.เชียงใหม่ทันที ซึ่งได้รับรายงานตั้งแต่เวลา 05.00 น. วันนี้ว่าได้ดำเนินการประสานงานกับผู้ว่าฯจ.เชียงใหม่เพื่อเข้าสู่พื้นที่น้ำท่วมที่ยังไม่สามารถเข้าได้และต้องพร้อมรับมือกับปริมาณระดับน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 

โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนในพื้นที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำสายให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำปิง ช่วงวันที่ 3 - 6 ต.ค. 67 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มล้นตลิ่ง คาดว่าที่สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะมีระดับน้ำสูงสุดสูงกว่าระดับตลิ่งชั่วคราว 1.58 ม. ในวันที่ 6 ต.ค. 67 และให้เฝ้าระวังพื้นที่ริมลำน้ำ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ บริเวณ อ.เมืองฯ ฮอด สารภี แม่วาง และดอยหล่อ รวมพื้นที่คาดการณ์น้ำท่วมในจ.เชียงใหม่ 206.75 กม.  และในจ.ลำพูน บริเวณ อ.เมือง อ.ป่าซาง และอ.เวียงหนองล่อง 

ส่วนการดำเนินการปรับแผนในการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรองรับสถานการณ์ตามปริมาณน้ำเหนือ นายจิรายุ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณฝนตกหนักทางพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำอย่างต่อเนื่อง  คาดการณ์สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ในช่วง 1 - 7 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200 - 2,500 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน  จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที  เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า

...

ทั้งนี้ การระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60-70 เซนติเมตร เฝ้าระวังเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ในบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล  จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และหากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จะมีการประเมินการณ์จากสทนช.และให้กรมชลประทาน แจ้งเตือนให้ประชาชนพื้นที่ท้ายน้ำทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป

นายจิรายุ กล่าวอีกว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง ศปช.และส่วนหน้าเร่งอำนวยการเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. รายงานว่าในช่วง 1 - 7 วันข้างหน้านี้ มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นวันละ 50 - 100 ลบ.ม./วินาที ทำให้ความสูงของน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีระดับเพิ่มขึ้นครั้งละ 10 - 15เซนติเมตร โดยสูงสุดไม่เกิน 70 เซนติเมตร ส่งผลกระทบกับประชาชนริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ท่าจีน ป่าสัก สะแกกรัง เจ้าพระยา จำนวน 11 จังหวัด

“ขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง  สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ โดยการระบายน้ำมีผลกระทบดังนี้ ผลกระทบแรกจะมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ผลกระทบที่สอง เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก สะแกกรัง เจ้าพระยา มีระดับสูงขึ้นแต่ไม่ล้นตลิ่ง จะทำให้ผู้ประกอบการในทางน้ำ การเดินเรือ การเลี้ยงปลาในกระชัง ผู้ที่อาศัยบริเวณนอกคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำดังกล่าว ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด” นายจิรายุกล่าว

สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ จ.เชียงราย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. มอบหมายให้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ที่ปรึกษาฯร่วมกันนำหน่วยทหารลงพื้นที่ฟื้นฟู โดยจุดที่ทำนบรั่วตามแนวแม่น้ำ ทหารช่างได้นำบิ๊กแบ็คอุดเสริมแนวรั่วต่าง ๆ  มีการผลัดเวรทำงานตลอด 24 ชม. “สถานการณ์ที่แม่สายไม่น่าเป็นห่วง ควบคุมได้ ถึงแม้จะมีจุดรั่วเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ อยู่บ้างก็ไม่เป็นปัญหา และระดับน้ำคงที่และเริ่มลดลงเป็นลำดับ ส่วนเมื่อคืนที่ผ่านมาแม้จะมีฝนตกในพื้นที่แม่สายแต่ไม่มีผลกระทบเรื่องโคลน ภาพรวมสถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายจิรายุ กล่าว

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เวลา 08.25 น. ระดับน้ำบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 (ด่านพรมแดนแม่สาย) น้ำลดลงต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มฝนตกลงมาเพิ่มเติม หลายหน่วยงานได้ร่วมกันระดมกำลังเข้าช่วยเหลือ อาทิ กระทรวงแรงงานเปิดจุดให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ที่ได้รับความเสียหาย และจัดทีมช่างช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ บริเวณตลาดสายลมจอย ข้างสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 เจ้าหน้าที่เร่งระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำออกจากพื้นที่

นายกฯ สั่งการทุกหน่วยงานเร่งเข้าช่วยเหลือทั้งประชาชนและสัตว์โดยด่วน

ต่อมาเวลา 1800 น. นายจิรายุ กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ ด้วยความเป็นห่วงและได้รับรายงานอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและสัตว์โดยด่วน

“นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานว่า ขณะนี้น้ำเริ่มไหลกลับลงลำน้ำแม่แตงแล้ว ก่อนหน้านี้มีการลำเลียงช้างขึ้นที่สูง แต่เมื่อระดับน้ำเริ่มลดแล้ว ไม่มีช้างที่แช่น้ำ จึงปรับแผนไม่ต้องเคลื่อนย้ายสัตว์ แต่ให้เฝ้าระวังตลอดเวลา และได้จัดเตรียมยารวมถึงให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ได้จัดกำลังเข้าไปฟื้นฟูบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ทุกคนกลับมาอยู่ในภาวะปกติโดยเร็ว และให้ทุกหน่วยงานเฝ้าจับตาสถานการณ์ต่อเนื่องโดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า”