เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 18 ปี ของการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ผมว่าจะเขียนถึงด้วยความขอบคุณแบบเต็มคอลัมน์สักหนึ่งวัน แต่จะด้วยเหตุใดไม่ทราบ เผลอไปเขียนเรื่องอื่นเสียนี่

ขออนุญาตกลับมาเขียนถึงในวันนี้คงไม่สายเกินไปนัก...ถือเป็น แฮปปี้เบิร์ธเดย์ ย้อนหลังว่างั้นเถอะครับ

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ท่านผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกล่าวตอนหนึ่งว่า สนามบินสุวรรณภูมิได้ทำหน้าที่ในการให้บริการแก่ผู้โดยสารไปแล้วถึง 815 ล้านคน รองรับเที่ยวบินกว่า 5 ล้านเที่ยว รับขนส่งสินค้าทางอากาศ กว่า 22 ล้านตัน ตลอด 18 ปีเต็มๆดังกล่าว

สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยทั้งทางตรง และทางอ้อมสุดที่จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ 

แต่ถ้าเรามองย้อนหลังกลับไปก็จะพบว่าเส้นทางเดินของสนามบินแห่งนี้มิได้ราบรื่นอย่างที่เห็นภาพ ณ ปัจจุบัน

ในทางตรงข้ามจัดว่าเป็นสนามบินที่ “ตั้งท้อง” นานที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกว่าจะได้ถือกำเนิดออกมาเป็นตัวตน

แนวคิดที่จะจัดสร้างสนามบินแห่งชาติแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ.2503 จากข้อเสนอแนะของ สภาเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมาก็คือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ หรือสภาพัฒน์ในปัจจุบัน

มีชื่อตั้งแต่ยุคโน้นว่า สนามบิน “หนองงูเห่า” เพราะอยู่ในเขต พื้นที่ที่เป็นหนองน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาลของจังหวัดสมุทรปราการ จนเกิดคำถามจากพรรคฝ่ายค้านและผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลยุคโน้นว่าจะไหวหรือ? สร้างสนามบินในหนองน้ำ...?

แม้การศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศจะยืนยันว่าสร้างได้ และพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดคือที่นี่ แต่การรีบดำเนินการอย่างรวดเร็วรวบรัด มีการเวนคืนที่ดินล่วงหน้า ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องมีผู้มีอิทธิพลได้รับประโยชน์จากโครงการ

...

ต่อมารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่พยายามผลักดันต่อจาก ยุคจอมพลสฤษดิ์ ก็เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ขึ้นเสียก่อน 

จน พ.ศ.2521 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงหยิบมาปัดฝุ่นและสั่งการให้ศึกษารายละเอียดใหม่ อีกครั้ง ผลการศึกษาก็ยังคงเหมือนเดิมว่าควรสร้างที่ “หนองงูเห่า” สมุทรปราการนี่แหละ แต่ก็ยังมิได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง

จนกระทั่ง พ.ศ.2534 รัฐบาลของนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ก็มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานกรุงเทพฯแห่งที่ 2 ณ บริเวณ หนองงูเห่า และให้ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ

ต่อมาในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ก็ได้อนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านบาท เพื่อลงมือก่อสร้าง

จากนั้นก็ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาผ่านรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา, รัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร แต่มาเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 28 กันยายน 2549 ในสมัยรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ผมถึงได้บอกว่าใช้เวลา “ตั้งครรภ์” นานมาก (กว่า 46 ปี) แต่ในที่สุดก็เกิดขึ้นได้เมื่อ 18 ปีที่ผ่านมาดังกล่าว

ที่สหรัฐอเมริกาเวลาโครงการใหญ่ๆของเขาประสบความสำเร็จ หรือมีการเฉลิมฉลองเกิดขึ้น...เขาจะเชิญประธานาธิบดีที่มีส่วนในโครงการนั้นแม้จะต่างพรรคมายืนเรียงกันถ่ายภาพเพื่อแสดงถึงความมีส่วนร่วมในการสร้างโครงการนั้นๆมาด้วยกัน

ของเราจะเชิญมาเรียงกันคงไม่ครบถ้วน เพราะหลายๆท่านไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว...ผมก็ขออนุญาตใช้วิธีเอ่ยชื่อถึงแต่ละท่านแทนการถ่ายภาพร่วมกัน และขอขอบคุณย้อนหลังกลับไปยังท่านต่างๆ ทั้งที่ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วและที่ยังมีชีวิตอยู่...ด้วยความซาบซึ้งและสำนึกอย่างหาที่สุดมิได้ ทุกๆท่านเทอญ.

"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม