“หมอเลี้ยบ” เผย “นายกฯ อิ๊งค์” พร้อมรับฟังคณะที่ปรึกษา ขอให้นำเสนอความเห็นตรงไปตรงมา เพื่อข้อมูลรอบด้าน ก่อนนำความเห็นชงหน่วยงานเข้า ครม. ลั่น แม้วัยเก๋าแต่ไม่ตกสมัย จ่อตั้งอนุกรรมการดูรายละเอียดแต่ละเรื่อง
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 กันยายน 2567 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงผลการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ที่บ้านพิษณุโลก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณทั้ง 5 ท่านที่ตอบรับมาเป็นที่ปรึกษา พร้อมกับขอให้นำเสนอความเห็นตรงไปตรงมา ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้รับข้อมูลที่รอบด้าน โดยที่ปรึกษาทั้ง 5 คน จะให้คำเสนอแนะไม่จำกัดเฉพาะด้านที่เชี่ยวชาญ แต่จะขับเคลื่อนเรื่องที่ถนัดเป็นพิเศษ
โดย นายธงทอง จันทรางศุ สนใจการปฏิรูประบบราชการให้ง่ายต่อการรับใช้ประชาชน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา จะช่วยดูกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนระบบราชการ ส่วน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ สนใจนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนตนเองที่ผ่านมาทำงานเชิงสาธารณสุข และซอฟต์พาวเวอร์ ก็สนใจทำเรื่องนี้ ขณะที่ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ มีประสบการณ์การเมืองมาก มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์โลก การต่างประเทศ ส่งเสริมเอสเอ็มอี จะมองเห็นภาพรวมทั้งหมดเพื่อขับเคลื่อนกับที่ปรึกษาคนอื่นๆ
...
ทั้งนี้ จะใช้บ้านพิษณุโลก เป็นสถานที่เชิญผู้รับผิดชอบทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน มาประชุมหารือกัน เพื่อนำเสนอแนวคิดกำหนดเป็นนโยบายต่อไป ที่สำคัญเราจะไม่คิดเพียงว่าจะทำอะไร แต่เราคิดด้วยว่าจะทำอย่างไร เราต้องมีแผนชัดเจนสามารถขับเคลื่อนองคาพยพทั้งระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจได้ กำหนดแนวทางที่ชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีจะประชุมด้วยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือทุกวันพฤหัสบดี เพื่อพูดคุยถึงนโยบายที่น่าสนใจอย่างตรงไปตรงมาและเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน
นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า คณะที่ปรึกษามีความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การออกมาตรการเศรษฐกิจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม มาตรการแก้หนี้ที่ได้ผล ไม่ได้มองเพียงการสนับสนุนเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ต้องเป็นมาตรการสร้างรายได้ และเรื่องการทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีไทยส่งออกต่างประเทศได้จริงจัง เรามีมาตรการบางอย่างที่เราคิดว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวที่หายไปก็จะมีการนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า อำนาจหน้าที่ของคณะที่ปรึกษามีผลแค่ไหนนั้น นพ.สุรพงษ์ ตอบว่า ทางที่ปรึกษาจะมีการพูดคุย ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟัง แต่ต้องไปทำร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงเชื่อว่าบ้านพิษณุโลกต่อไปนี้จะมีการประชุมเรื่องต่างๆ อีกมาก
ส่วนเรื่องค่าเงินบาท เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพูดคุย นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ธปท. ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็อาจมีการพูดคุยกัน แต่คงไม่ได้เชิญมาแบบเป็นทางการ เมื่อถามต่อไปว่าการแก้ปัญหาการเมือง กฎหมายกระบวนการยุติธรรม ความขัดแย้ง จะมีการนำเสนอด้วยหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้น นายพงศ์เทพ มีความเชี่ยวชาญกฎหมาย เป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดังนั้น การมองภาพระบบนิติรัฐนิติธรรมท่านก็ให้ความสนใจ
ทางด้านประเด็นว่าคณะที่ปรึกษาทุกท่านเป็นวัยเก๋า แต่โลกเปลี่ยนไปจะทำให้คนรุ่นใหม่ไว้วางใจได้อย่างไร นพ.สุรพงษ์ เผยว่า นายพันศักดิ์ อายุ 80 ปี นายธงทอง อายุ 70 ที่เหลือ 60 กว่าปี แต่เท่าที่ได้พูดคุย ทุกท่านมีประสบการณ์มาก และยังเรียนรู้ไม่หยุดในทุกๆ ด้าน เชื่อว่าทั้ง 5 คนไม่มีตกสมัย แต่เราไม่ได้ทำงานกัน 5 คน จะมีการตั้งอนุกรรมการมาดูรายละเอียดแต่ละเรื่องด้วย เราเป็นสารตั้งต้นนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาของประเทศครั้งใหญ่
สำหรับผลงานคณะที่ปรึกษาชุดนี้จะวัดอย่างไร นพ.สุรพงษ์ บอกว่า ไม่มีการกำหนด KPI แต่ที่ปรึกษาทุกคนไฟแรงมาก พร้อมเริ่มงานเต็มที่ นายธงทอง เตรียมขอตัวข้าราชการบางส่วนมาช่วยงาน ตนก็มีในใจแล้ว ผลงานคงวัดจากงานภาพใหญ่ของประเทศมากกว่า หากเปรียบสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ภาพใหญ่คือเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ซึ่งเรื่องนั้นใหญ่มาก ดังนั้น นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีก 2 ปีกว่าสิ่งที่อยากเห็น คนไทยจะต้องพ้นความยากจน ประเทศสามารถหลุดพ้นปัญหาเศรษฐกิจ นำไปสู่ทิศทางที่ชัดเจนในการสร้างเศรษฐกิจกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
ขณะที่ นายพงศ์เทพ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไร เพียงแต่บอกว่า เรื่องอะไรที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ให้พิจารณาและเสนอได้เต็มที่ หรือมีบางเรื่องที่อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญหรือโครงการบางเรื่องที่มองว่าให้ที่ปรึกษาฯ ได้ให้ความเห็นด้วย อาจส่งมาดูเป็นเรื่องๆ ส่วนการประชุมครั้งต่อไปจะเป็นวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 น.