วันนี้ กระทรวงแรงงาน จะประชุมคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อ ขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็น 400 บาททั่วประเทศ หลังจากที่ล่มมาถึงสองครั้ง ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเพื่อไทย สมัยนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่ามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก 1 มกราคม ขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าทั่วประเทศ 17 อัตรา เป็นวันละ 330–370 บาท ครั้งที่สอง 12 เมษายน ขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นวันละ 400 บาท เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไปใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว และ จะขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นวันละ 400 บาทในวันที่ 1 ตุลาคม และปรับขึ้น ทุกปีจนถึงวันละ 600 บาท ในปี 2570 เพื่อสนองนโยบายหาเสียงทางการเมือง ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่โตตํ่าเตี้ยตํ่ากว่าศักยภาพ จากการฉุดรั้งของนโยบายพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล
การผลักดันให้ขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเป็น วันละ 400 บาท ของรัฐบาลเพื่อไทยในยุค นายกฯแพทองธาร ชินวัตร วันนี้ก็ได้รับเสียงค้านดังๆ จากผู้ประกอบการธุรกิจทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงภาคบริการ เพราะแรงงานไทยไม่ได้ประโยชน์มากนัก แต่แรงงานต่างชาติกว่า 6.8 ล้านคนในประเทศไทย จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ
คุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างฯ ให้ความเห็นว่า ภาคการเมืองที่เข้ามาครอบงำการปรับค่าจ้าง ไม่ส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการลงทุนและการส่งออกของไทยซึ่งขยายตัวได้ตํ่ากว่าศักยภาพอยู่แล้ว ตลาดแรงงานไทยมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย 3.342 ล้านคน 70.1% เป็นแรงงานเมียนมา 2.3 ล้านคน แรงงานเหล่านี้ได้รับอานิสงส์จากการขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า ในระยะสั้นมีผลต่อรายได้ที่สูงขึ้น และตามมาด้วยเงินเฟ้อ และการจ้างงานในอนาคตที่จะหดตัว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าครั้งที่ 3 ของปีนี้ ภาคการเมืองตั้งธงไว้ที่วันละ 400 บาท ปีต่อไปจะเพิ่มจนถึงเพดาน 600 บาท โดยไม่ต้องใช้สูตรค่าจ้างหรือสภาวะเศรษฐกิจ การเมืองสามารถหาเสียงโดยกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่าใดก็ได้
...
คุณพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเขต 2 (ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด) ก็ออกมาค้านเช่นเดียวกันว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท แรงงานไทยไม่ได้ประโยชน์ เพราะค่าแรงสูงกว่า 400 บาทต่อวันแล้ว แรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ และส่งผลกระทบต่อการลงทุน สุดท้ายแล้วนักลงทุนจะหันไปลงทุนในประเทศอื่น และอาจย้ายฐานผลิต วันนี้ เวียดนาม กลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด ค่าแรงต่ำ ค่าไฟถูก มีเอฟทีเอมากกว่าไทย มีคนวัยแรงงานมากกว่าไทย
ปีที่แล้ว เอ็มไอกรุ๊ป ได้วิจัยเรื่อง “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานเมียนมาในประเทศไทย” ระบุว่า มีแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในไทยสูงถึง 6.8 ล้านคน ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8.2 แสนล้านบาท ถึง 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี กระจายอยู่ตามชายแดนและนิคมอุตสาหกรรม มีการลงทะเบียนกว่า 1.85 ล้านคน คิดเป็น 67% ของแรงงานต่างชาติที่ลงทะเบียนไว้ 2.76 ล้านคน (ปี 2567 ลงทะเบียนเพิ่มเป็น 3.28 ล้านคน) มีรายได้ ระหว่าง 10,000–15,000 บาทต่อเดือน 5 อาชีพที่นิยมที่สุดคือ พนักงานโรงงาน 39% แรงงานก่อสร้าง 18% พนักงานขาย 15% เกษตรกร 11% รับจ้างทั่วไป 9% (เดี๋ยวนี้เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารด้วย)
กิจกรรมยอดฮิตของแรงงานเมียนมาในเวลาว่างคือ จับจ่ายซื้อของ และเล่นเน็ต การวิจัยพบว่า 74% ของแรงงานเมียนมาในไทย มีการ “ช็อปออนไลน์” ทางลาซาด้า ช้อปปี้ ติ๊กต่อก
ที่น่าสนใจก็คือ แรงงานเมียนมาในไทยออมเงินสูงถึง 44% ของรายได้ เงินออมนี้จะส่งกลับบ้านที่เมียนมาราว 2 ใน 3 เก็บไว้ใช้เอง 1 ใน 3 ส่วนมากเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อายุเฉลี่ย 25–34 ปี มีเป้าหมายจะกลับไปตั้งตัวใช้ชีวิตที่เมียนมา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท จนถึง 600 บาท ใน 3 ปีข้างหน้า แรงงานเมียนมา 6.8 ล้านคน จะได้ประโยชน์เต็มๆ และขอบคุณ “พรรคเพื่อไทย” ที่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ คนไทยยากจนหลายสิบล้านคนมีหนี้สินท่วมตัวกว่า 16 ล้านล้านบาท 91% ของจีดีพี พรรคเพื่อไทยกำลังช่วยใคร?
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม