การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นทุกขณะ เมื่อพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาล ได้แจ้งรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น เป็นการแก้ไขเป็นรายมาตรา ประเด็นที่ 1 แก้มาตรา 98 (7) การกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส. ห้ามผู้ต้องโทษจำคุก และพ้นโทษมาไม่ถึง 10 ปี ประเด็นที่ 2 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี

คุณสมบัติรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ม.160 มีอยู่ 3 ประเด็นคือ (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แก้เป็นไม่มีพฤติกรรมที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ประเด็นที่ 3 แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และจริยธรรม ที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี 7 มาตรา ประเด็นที่ 4 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยคดีต่างๆ โดยใช้เสียงข้างมาก แก้ไขเป็นใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมด ส่วนประเด็นที่ 5 ว่าด้วยอำนาจ ป.ป.ช. ในการพิจารณาคดีของ ส.ส.

ประเด็นที่ 6 ประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีปัญหาไม่เป็นที่ยอมรับหลายประเด็น เหตุผลสำคัญที่นำมาสู่เสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่การยุบพรรคและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ที่หลายฝ่ายสงสัยว่าสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่

นักปราชญ์ฝ่ายประชาธิปไตยระบุว่า อำนาจทำให้เหลิง หรือลุแก่อำนาจ ยิ่งถ้าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ยิ่งเหลิงอำนาจหัวปักหัวปำ จึงต้องใช้อำนาจ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” ซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดลุแก่อำนาจ จนกลายเป็นเผด็จการ แนวคิดเรื่องนี้เป็นที่มาของระบบการปกครอง ที่แบ่งแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่าย

...

แบ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกมีอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนและวุฒิสภา และอำนาจบริหารคือประธานาธิบดีมาจากเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด ประธานาธิบดี เป็นผู้เสนอ วุฒิสภาเป็นคนเลือก

มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างสมดุล ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจครอบงำอีกฝ่ายหนึ่ง ทำลายระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล และกระทบต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขณะนี้ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังพยายามทำให้เกิดดุลยภาพแห่งอำนาจ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม