วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “Digital Token” กันนะครับ สองวันก่อน ก.ล.ต.เพิ่งประกาศหลักเกณฑ์ใหม่เรื่อง การอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Digital Token) แบบกลุ่ม (shelf filing) และ ปรับปรุงสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อย (ICO) เพื่อรองรับการระดมทุนของ กลุ่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ก็ถือเป็นข่าวดีของ กลุ่มอุตสาหกรรม Soft Power เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี ละคร ศิลปะ ฯลฯ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ เพิ่มทางเลือกการลงทุนในโทเคนดิจิทัลของประชาชนทั่วไปด้วย โดยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
อ่านข่าวนี้แล้วผมก็นึกถึง Destiny Token ของภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” ของ ค่ายหนังจีดีเอช ร่วมกับ บรอดคาซท์ไทย ขึ้นมาทันที เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ระดมทุนสร้างจากการขายโทเคนดิจิทัลโดยตั้งชื่อว่า Destiny Token เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
Destiny Token เสนอขายทั้งหมด 16,087 เหรียญ คิดเป็นมูลค่าระดมทุนกว่า 265 ล้านบาท โดยให้ผลตอบแทนเริ่มต้นที่ 2.99% ผู้ลงทุนต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีบัญชีธนาคารกสิกรไทยและแอป K Plus ผู้ลงทุนได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นการร่วมงานอีเวนต์ ชมภาพยนตร์ก่อนใคร ของที่ระลึก ส่วนลดต่างๆ ระยะเวลาลงทุน 2 ปี ได้รับคืนเงินต้น พร้อมบวกผลตอบแทนพิเศษอีก 2.01% ถ้าภาพยนตร์สามารถทำรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท แต่ “บุพเพสันนิวาส 2” ทำรายได้ในไทยได้ 392.73 ล้านบาท เป็นหนังสือไทยเรื่องเดียวที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาทในปี 2565
ไปดูเงื่อนไขใหม่ใน การระดมทุนผ่าน Digital Token สำหรับธุรกิจ Soft Power กันครับ
...
1.การขออนุญาตขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO) แบบกลุ่ม (shelf filing) ต้องเป็น โทเคนดิจิทัลที่เป็นโครงการซึ่งมีทรัพย์สินอ้างอิง หรือทรัพย์สินที่ลงทุนในลักษณะเดียวกัน หรือโครงการในทำนองเดียวกัน ตามที่ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด ได้แก่ โครงการในกลุ่มอุตสาหกรรม Soft Power เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร ศิลปะ เป็นต้น ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายแบบ shelf filing สามารถขายโทเคนดิจิทัลได้โดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขายภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต
2.ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลรวมต่อผู้ลงทุนรายย่อย กรณีที่เป็นโครงการใน กลุ่มอุตสาหกรรม Soft Power จากเดิมที่มีการจำกัดมูลค่าการระดมทุนต่อผู้ลงทุนรายย่อย
การปรับปรุงหลักเกณฑ์การระดมทุนผ่าน Digital Token ครั้งนี้ คุณอเนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมโครงการในกลุ่มอุตสาหกรรม Soft Power ให้เข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุนได้สะดวกขึ้น และเป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรม Soft Power สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป
ก็ถือเป็น อีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คนที่มีไอเดียใหม่ๆ หรือ ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ สามารถระดมทุนไปลงทุนต่อได้
Digital Token มีสองประเภท คือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) และ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) บริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป เคยประเมินไว้ว่า ปี 2573 โทเคนดิจิทัลจะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 50 เท่าจากมูลค่าปัจจุบันเป็น 16 ล้านล้านดอลลาร์ ราว 544 ล้านล้านบาท หรือ 30 เท่าของจีดีพีประเทศไทยในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งใน “โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่” ที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ล้าหลังของไทย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม