“ชูศักดิ์ ศิรินิล” เผยเตรียมยื่นแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง รื้อคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ปัดเอื้อ “ทักษิณ” หวนคืนคุมบ้านเก่า พร้อมเตรียมยื่นแก้ไขยุบพรรคเน้นเฉพาะการล้มล้างการปกครอง ส่วนเรื่องครอบงำจะปรับให้รัดกุมขึ้น เขย่าอำนาจ ป.ป.ช.

เมื่อเวลา 10.35 น. วันที่ 20 ก.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการเตรียมยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ว่า จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา และพิจารณาในรัฐสภา โดยจะมีการแก้ไขในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ ตนคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน

เมื่อถามว่า การแก้ไขนี้เพื่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรค พท. ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า “ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย ก็ไม่ต้องไปพูดว่าหมายถึงใครยังไงอย่างไร” ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว. ในตอนนั้นไม่เห็นด้วย ส่วน สว. ชุดปัจจุบันนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ว่ากันในอนาคต

ขณะเดียวกันก็จะไปดูการแก้เรื่องยุบพรรค การครอบงำพรรคว่าจำกัดไว้อย่างไรให้เหมาะสม โดยเรื่องการยุบพรรคเราก็จะเน้นไปที่เรื่องเฉพาะการล้มล้างการปกครอง ส่วนเรื่องอื่น ๆ ไม่เอาถูกยุบพรรค ส่วนเรื่องการครอบงำก็จะปรับว่าจะทำอย่างไรให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไร ๆ ก็ครอบงำหมด

...

เมื่อถามว่า กังวลข้อหาหรือไม่ ว่าการแก้ไขกฎหมายจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง นายชูศักดิ์ ระบุว่า ตนขอย้ำเราทำกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมพอสมควร ขอพูดง่าย ๆ คนที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญาท้ายที่สุดเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ พร้อมถามกับสื่อว่าเป็นธรรมหรือไม่ ถ้ามาตั้งคำถามว่าแก้เพื่อตัวเองอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ตั้งคำถามได้หมด

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ยังยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ว่าจะแก้ในบางประเด็น กรณีแรกคือมีความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช. สั่งไม่มีมูล หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิ์ผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายซึ่งเคยยื่นมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดมีข้อทักท้วงบางประการก็นำกลับมาแก้ และขณะนี้ก็จะแก้ใหม่ พร้อมทั้งแก้เรื่องอื่น ๆ ไปด้วย เช่น เรื่องอำนาจฟ้องเองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรามองว่ากรณีที่ ป.ป.ช. มีคำสั่งว่ามีมูลหรือฟ้อง แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ตั้งกรรมการร่วมกันก็บอกว่าไม่ฟ้อง แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช. ก็ไปฟ้องเอง ซึ่งหากเป็นแบบนี้เราก็มองว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่สอบสวนฟ้องร้องได้เองหมด ทำให้ขัดต่อหลักการคานอำนาจ

ส่วนอีกกรณีบางเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว ควรมีกำหนดระยะเวลาในการรับเรื่องเพื่อทำให้ชัดเจน พร้อมย้ำว่า ควรมีขอบเขตระยะเวลาในการไต่สวนว่าควรเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะมีระยะเวลาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ไม่ใช่สอบไปเรื่อย ๆ 10 - 20 ปี บางทีชี้มูลไปแล้วตอนเกษียณ เช่น อาจจะกำหนดไว้ 5 ปีก็ได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่า การแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ป.ป.ช. ไปด้วย คาดว่าสัปดาห์หน้าจะยื่นได้พร้อม ๆ กัน