“อดิศร เพียงเกษ” เจ็บปวด น้ำตาคลออภิปรายเสียงสั่น อาลัยน้องชายถูกซุ่มฆ่าในสมัยรัฐบาลเผด็จการ ลั่น ต้องนิรโทษกรรมให้ลูกหลานทุกคน ขอให้สันติภาพเกิดขึ้นถาวรในประเทศไทย ก่อนสภาเห็นชอบส่งรายงานและข้อสังเกตถึง ครม.

เมื่อเวลา 15.44 น. วันที่ 19 กันยายน 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร อยู่ในระหว่างการพิจารณา รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบาย ภายใต้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ซึ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนพิจารณาเสร็จแล้ว เข้าสู่การอภิปรายของ นายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เริ่มกล่าวว่า ไม่เคยคิดว่าเราจะย้อนอดีตมาคุยกัน และเป็นอดีตที่ขมขื่น ที่ตนได้ประสบพบเห็น ไม่ใช่การอ่านหนังสือมาเล่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 40-50 ปีก่อน เป็นความเจ็บปวดของผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง เกิดการสูญเสียทุกฝ่าย ผู้ปกครองใช้อำนาจเผด็จการโดยไม่ฟังความคิดเห็นประชาชน เกิดความขัดแย้ง จนก่อให้เกิดพรรคการเมืองใต้ดินขึ้น โดยการประสานของคอมมิวนิสต์สากล สายจีน สายเวียดนาม มาจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ และพัฒนามาเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า เสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว (ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ลุกลามผ่านไป เกิดอำนาจรัฐ เกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขณะนั้นมี 3 ศัตรู คือ จักรวรรดินิยม, ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง ก่อร่างสร้างตัวเคลื่อนไหวในป่าและในเมือง ตามแนวอุดมการณ์มาร์กซิสต์ในขณะนั้น เมื่อการปกครองของประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย มีการร่างรัฐธรรมนูญ 10 กว่าปี จอมพลถนอม กิตติขจร (อดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 10) สืบทอดจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (อดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 11) ร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จเสียที ในขณะนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนกระทั่ง 14 ตุลาคม 2516 เราได้รับชัยชนะ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลี้ภัยออกนอกประเทศ

...

จากนั้น 3 ปีเกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดคือ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกล้อมปราบ ถูกยิงเหมือนนกในกรง ถูกปราบปราม ถูกเปลื้องผ้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความรุนแรงดังกล่าวผู้ปกครองเป็นคนทำ ลูกหลานของตนเองไม่รู้จะต่อสู้อย่างไรก็ต้องหาที่พึ่ง ก็เข้าป่าไปร่วมจับปืนกับพรรคคอมมิวนิสต์ อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน เมื่อความรุนแรงมา ก็ต้องใช้ความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในขณะนั้นตนอายุ 20 ปีเศษๆ พร้อมขอให้ นายวิทยา แก้วภราดัย เปิดเผย เพราะถูกยิงด้วยปืน M16 ทั้ง 2 ขา ขนาดอยู่โรงพยาบาลยังถูกตรวนผูกขา นั่นคือความรุนแรงขณะนั้น นิสิตนักศึกษาหลายคนทนไม่ไหวก็เข้าป่า

“กระผมเองครอบครัวเพียงเกษ ขออนุญาตพูดเพื่อเป็นเกียรติแก่คนที่เสียสละชีวิต ครอบครัวเพียงเกษ พ่อ แม่ ลูกๆ ทั้งหมด 9 คน เข้าป่าหมด ศึกษาลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน ความคิด เหมา เจ๋อตง พี่น้องผม 9 คน น้องผมเข้าป่าไม่เป็นทหารหลักอยู่ที่จังหวัดน่าน” ทั้งนี้ เมื่อกล่าวมาถึงน้องชายของตนเอง นายอดิศร น้ำตาคลอและพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า “นายอดิศวร เพียงเกษ นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีที่ 2 สหายหมอกครับ ถูกยิงเสียชีวิตครับ วันนี้จึงขอไว้อาลัยแก่น้องชายครับ เหตุการณ์ทางการเมืองมันเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจกัน เพราะระบอบเผด็จการ”

ต่อมารัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15) ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในการชุมนุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4-6 ตุลาคม 2521 พ.ร.บ.นี้เป็นที่รองรับของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 รบราฆ่าฟันไม่มีประโยชน์ ต่างฝ่ายต่างสูญเสีย เสด็จพระราชทานเพลิงศพทุกวัน อยู่ในป่าไม่มีที่จะฝัง ความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่สามารถทำให้สังคมมีสันติสุขได้ อยากให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจที่เราจะพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม เพื่อเป็นผลที่จะมีการพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมในสัปดาห์หน้า ว่าเราจะนำพาประเทศนี้โดยเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันได้อย่างไร ทำอย่างไรประเทศนี้ถึงจะไม่มีความขัดแย้ง ความเห็นต่างอยู่ได้ เหตุการณ์มูลเหตุชักจูงใจอย่างไรที่เกิดขึ้นในทางการเมือง ต้องนิรโทษกรรมให้เขาหมด ถึงวันนั้นตนจะลุกขึ้นอภิปรายอีก

ทั้งนี้ อยากถามกรรมาธิการว่า ปัญหา 20-40 ปี ไปรับปากไว้ทำไมไม่ทำ ให้ที่กินเขาไปแล้ว ต่อมาจะออกเป็นอุทยาน ไปโกหกเขาทำไม พ่อแม่เขาสู้ เขาสูญเสีย เขาต้องการสร้างชาติบ้านเมือง เมื่อมาถึงยุคเราต้องรักษาคำมั่นสัญญาสงครามถึงจะไม่เกิด ตนไม่เคยเรียกร้องที่น้องตนเสียสละ เมื่อเสียสละชีวิตเราก็จบไป ต่อมานักศึกษาก็เข้ามาเรียน ตนจบปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็มาประกอบอาชีพทนายความ วันนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจ ให้เขาไปเถอะ เราย้อนอดีต 40 ปี เพื่อให้ลูกหลานได้เข้าใจว่าสังคมเกิดความขัดแย้งอย่างนี้ ปัจจุบันต้องเอาอดีตมารับใช้ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่จะไม่นิรโทษให้ลูกหลาน ประเทศไทยต้องจับมือกัน การเมืองไม่มั่นคง เศรษฐกิจเดินไม่ได้ เรามีความเจ็บปวด แต่อยากให้สังคมทุกฝ่ายเข้าใจว่าคนไทยสามารถพูดคุยกันได้ ไม่จำเป็นต้องรบราฆ่าฟัน ไม่ต้องแบ่งสีแบ่งฝ่าย พร้อมขอให้ท่านทั้งหลายรำลึกถึงการเสียสละของ 2 ฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายในป่าหรือในเมือง

ในตอนท้าย นายอดิศร ยังกล่าวด้วยว่า “รัฐบาลของเราในปัจจุบัน ท่านแพทองธาร ชินวัตร ท่านเกิดไม่ทันหรอกครับ หลายท่านเกิดไม่ทัน แต่ให้ฟังว่าคนที่พูดในขณะนี้คือผ่านเหตุการณ์มา ที่ไม่ตายเพราะมันไม่ถูกยิงเฉยๆ น้องผมถูกซุ่มนะครับที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ถูกซุ่ม ถูกตัดคอ เสียบเหมือนสงครามเวียดนาม นั่นคือความรุนแรง ไม่อยากให้เกิดขึ้น เห็นลูกหลานเราเป็นผ้าขาว เปิดโอกาสให้เขาได้เดินอย่างสง่าผ่าเผย สะสมประสบการณ์ตามวัยวุฒิของเขา ท้ายที่สุดขอให้สังคมไทยจงประสบกับความเจริญและสันติสุข การรบราฆ่าฟัน ความรุนแรงใดๆ อย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย ขอให้สันติภาพเกิดขึ้นถาวรในประเทศไทยเราครับ” ก่อนจบการอภิปรายใน 15.56 น.

ต่อมาเวลา 16.56 น. นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ในฐานะประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ร่วมอภิปราย ได้เห็นสภาพปัญหาตรงกันว่าคำสั่งที่ 66/2523 เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข วันนี้ได้เห็นความรู้สึกขมขื่น น้ำตาของ นายอดิศร ถึงความรู้สึกในอดีต ซึ่งเป็นบทเรียนที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย พร้อมขอบคุณ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ให้ข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ ในนามประธานกรรมาธิการ หวังว่าข้อเสนอแนะของรายงานกรรมาธิการฉบับนี้จะส่งไปให้รัฐบาลได้หันมาและจับไปทำ คลี่คลายปัญหากับนโยบาย 66/2523 ในอนาคตต่อไป

จากนั้น นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ระบุว่า ความคิดเห็นของสมาชิกเป็นไปในทางเดียวกัน คือเห็นด้วยกับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ และไม่มีผู้ใดคัดค้าน ดังนั้น ขออาศัยข้อบังคับข้อที่ 88 ถามที่ประชุมว่าจะมีสมาชิกเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ หากไม่มีถือว่าที่ประชุมเห็นชอบรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ตามข้อบังคับ ข้อ 88, 104 และ 105 โดยจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและรายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบและดำเนินการต่อไป และจบวาระนี้ในเวลา 16.59 น.