ต้องถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับการเมืองไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มีการประสานกับพรรคร่วมรัฐบาล ทุกพรรคเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้แต่พรรคประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายค้านก็เห็นด้วย และยังเสนอให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งจะทำให้รวดเร็ว ส่วนการแก้ไขทั้งฉบับอาจจะล่าช้า

ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องให้ออกเสียงประชามติ ถามประชาชนถึง 3 ครั้ง เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ และจะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้เป็นผู้ยกร่างโดยไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน แต่ฝ่ายที่ใจร้อนเสนอให้แก้ไขเป็นรายมาตรา เอาเฉพาะที่สำคัญ

ตัวอย่างเช่นมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในปัจจุบันตัดสินกันด้วยเสียงข้างน้อยของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวคือจะต้องให้ สว.เห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงขึ้นไป มิฉะนั้นร่างแก้ไขจะตกไป แม้จะได้รับความเห็นชอบจาก 500 สส.ทั้งสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่มีใครทำกันในโลกประชาธิปไตย

เพราะขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่ชัดแจ้ง อีกประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณา คือมาตรา 107 ว่าด้วยการได้มาของ สว.แบบใหม่ 200 คน ที่ให้มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นหลักการที่ดี น่าเลื่อมใส แต่ในภาคปฏิบัติเกิดความสับสนอลหม่าน ตั้งแต่ระดับต้นจนถึงสุดท้าย และเชื่อกันว่าถูกการเมืองครอบงำ

ถ้าผลการเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก ของ สว. ที่ถูกการเมืองครอบงำจริงจะถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะมีผลกระทบต่อการเมือง ที่ร้ายแรงกว่าข้อกล่าวหาเรื่องนายกรัฐมนตรีถูกครอบงำ โดยใครบางคนหรือไม่ ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งที่ สส.ทุกฝ่ายเห็นควรแก้ไข คืออิทธิฤทธิ์ของอำนาจ “จริยธรรม”

...

ข้อกล่าวหาเรื่องนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่สอยนักการเมืองมาแล้วหลายคน รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ถูกวิพากษ์อย่างหนัก เพราะเปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง แบบครอบจักรวาล เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ชัดเจน มีช่องโหว่

ดูเหมือนว่า สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีความเห็นสอดคล้องกันในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขียนให้ชัดเจนว่าอะไรกันแน่ คือการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงและเห็นด้วยว่าจะต้องมีระบบ “การตรวจสอบและถ่วงดุล” ระหว่างอำนาจ 3 ฝ่าย ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือ ฝ่ายอื่นๆ จะต้องตรวจสอบและถ่วงดุล จึงจะเป็นประชาธิปไตยแท้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม