ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ สร้างความฮือฮาอีกแล้ว เมื่อไปแสดงปาฐกถาเรื่อง “สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand” ว่าการเติบโตของประเทศไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก จะเติมโตแบบเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว ต้องหาการเติบโตแบบใหม่ โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขจีดีพี (GDP)” หรือ “ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)” แต่ต้องพิจารณาว่า GDP หรือ FDI จะสร้างประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของคนไทยได้มากน้อยเพียงใด เพราะตัวเลขที่ต้องล่าคือ ความมั่งคั่งของรายได้ครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน จึงต้องพึ่งพาความเข้มแข็งจากในประเทศมากขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า 3 ประเด็นที่สะท้อนว่าไทยเติบโตแบบเดิมไม่ได้แล้วคือ

1.อัตราการขยายตัวของ GDP ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งของครัวเรือน แม้การเติบโตของ Nominal GDP จะเติบโตจาก 100 เป็น 180 แต่เมื่อพิจารณาจากรายได้ครัวเรือนยังค่อนข้างห่างพอสมควร มองไปข้างหน้า GDP มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เน้นการเติบโตของจีดีพี แต่รายได้ครัวเรือนไม่เพิ่มขึ้นมาก (ม.หอการค้า แถลงเมื่อ 13 ก.ย. ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 15 ปี 2552-2567 เพิ่มขึ้น 322% จาก 143,000 เป็น 606,378 บาทในปี 2567)

2.เห็นการกระจุกตัวในภาคธุรกิจ จากข้อมูลสัดส่วนรายได้ธุรกิจพบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วน 5% แต่กลับมีรายได้มากถึง 80–90% จากเดิมที่ 84-85% ซึ่งเห็นการกระจุกตัวมากขึ้น หากดูธุรกิจตัวเล็กหรือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการปิดกิจการมากขึ้นสะท้อน Dynamic ในการขับเคลื่อนที่กระจุกตัว

...

3.โลกเปลี่ยนแปลงความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะพึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แบบเดิมไม่ได้ ปี 2544–2548 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดที่ 0.57% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุน FDI ของไทยค่อนข้างทรงตัว ในทางกลับกันเวียดนามและอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้น สะท้อนว่า ไทยจะนั่งรอ FDI เข้ามาไม่ได้แล้ว เพราะ “ไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม” อีกแล้ว เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลข GDP หรือตัวเลข FDI อีกแล้ว เราต้องดูว่า GDP หรือ FDI สร้างประโยชน์ความเป็นอยู่ของประเทศแค่ไหน เพราะตัวเลขที่ต้องล่าคือ ความมั่งคั่งของรายได้ของครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เช่น สาธารณสุข การศึกษา ตัวเลขที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เราจึงต้องพึ่งพาความเข้มแข็งจากภายในประเทศ

ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า การเติบโตรูปแบบใหม่ จะเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน และมีฐานกว้าง เป็นการเติบโตแบบ More Local คือ เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ธุรกิจประมาณ 80% ก็อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล จึงต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล

การเติบโตแบบท้องถิ่นจะต้องเติบโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ ไม่เพียงแข่งขันระหว่างจังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย มีความท้าทายหลายด้าน เช่น การสร้างท้องถิ่นสากลที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน สามารถแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำและมีมูลค่าสูงขึ้น เชื่อมกับตลาดโดยใช้กระแสออนไลน์ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยหาจุดเด่นและเอกลักษณ์ ร่วมมือกับพันธมิตร ตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น win win ทำให้เมืองรองเติบโต ฯลฯ

ฟัง ดร.เศรษฐพุฒิ พูดแล้ว ผมก็อดคิดถึง คุณทักษิณ ชินวัตร สมัยเป็นนายกฯ ครั้งแรก

คุณทักษิณ ได้ทำเครือข่าย “อินเตอร์เน็ตตำบล” เพื่อเป็นช่องทางให้ทุกตำบลส่งสินค้าไปขายในตลาดโลกผ่านอินเตอร์เน็ตตำบลได้ โดยได้ทดลองกับผ้าไหมชินวัตร ถือเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามากเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ทำไมจึงไม่สำเร็จก็ไม่ทราบได้ ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยนำกลับมาทำใหม่ในวันนี้ สินค้าไทยทุกตำบลจะเข้าสู่ตลาดโลกได้ทันที เหมือนกับจีนที่ส่งสินค้าราคาถูกมาถล่มตลาดไทยในเวลานี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม