“ชูศักดิ์” เผย ทุกพรรคปรองดอง ร่วมเป็นเจ้าภาพยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ปมมาตรฐานจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ให้รัดกุม ป้องกันตีความกว้าง เตรียมทำประชามติพร้อมแก้ รธน. ทั้งฉบับต้นปีหน้า

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 16 กันยายน 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่า ต้องรอว่าวุฒิสภาจะแก้ไขหรือไม่ หากมีการแก้ไขต้องกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อมาหารือว่าจะแก้ไขตามที่วุฒิสภาแก้ไขหรือไม่ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็ยืนยันว่าการใช้เสียงข้างมากธรรมดาเป็นสิ่งที่ดีกว่าและเป็นหลักสากล

ทั้งนี้ สมมติว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ขั้นตอนที่ 1 ทำประชามติสอบถามประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากเห็นชอบจะไปสู่ขั้นตอนที่ 2 คือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยต้องทำประชามติครั้งที่ 2 หากประชาชนเห็นชอบ ส.ส.ร. ก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญจนให้แล้วเสร็จ จากนั้นก็จะทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกรณีที่พรรคประชาชน (ปชน.) ยังติดใจคำถามประชามติครั้งแรกห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ต้องยืนตามนี้ ทั้งนี้ จะมีเรื่องการแก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 หรือไม่นั้น ท้ายสุดเมื่อแก้ไขมาตรา 256 ก็ต้องเขียนระบุไว้อยู่แล้ว

...

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้รับการประสานกับพรรคประชาชน เขามีความคิดต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรฐานจริยธรรม และเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ โดยจะเป็นการแก้ไขถ้อยคำให้รัดกุม ไม่ให้เกิดการตีความที่กว้างขวาง ซึ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลไปพอสมควรแล้ว ซึ่งทุกพรรคการเมืองในสภาจะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่ากรอบเวลาในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะเป็นอย่างไร นายชูศักดิ์ ระบุว่า อยากจะทำให้เร็ว แต่เราต้องทำประชามติไป เพราะเป็นการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะทำไปพร้อมกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คาดว่าทำในช่วงเดียวกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในต้นปี 2568 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยเรื่องการแก้ไขรายมาตราประเด็นจะทำประชามติเพียงครั้งเดียว.