ข่าวการเมืองไทยวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นข่าวนักร้อง ร้องเรียนให้ถอดถอนนายก รัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีกลาโหม นายกรัฐมนตรีโดนนักร้องเจ้าประจำ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ร้องให้ถอดถอนมาแล้วหลายคดี ล่าสุดร้องให้ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรม ฐานแต่งตั้งนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็น รมช.คมนาคม

กล่าวหาว่า ทำผิดมาตรฐานจริยธรรม เพราะเคยถูกจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท โทษฐานทำผิดการเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2563 แต่ให้รอลงอาญา และตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งด้วย ในฐานะเป็นผู้เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี เช่นเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข่าวที่ฝ่ายรัฐบาลข้องใจ คือ “วาทกรรม” ของฝ่ายค้าน ในการอภิปรายนโยบายที่ผ่านมา นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงด้วยการสดุดีนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประมุขฝ่ายบริหารได้สมบูรณ์แล้ว แต่ฝ่ายค้านใช้วาทกรรมที่ไม่สามารถก้าวข้ามนายทักษิณ ชินวัตร ที่ว่ารัฐบาลนายใหญ่ นายทุนและนายหน้า

ตรงกับนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยคมนาคม วิจารณ์การอภิปรายของฝ่ายค้านว่า ยังใช้วาทกรรมวนเวียน เช่น พูดว่ารัฐบาลข้ามขั้ว ตระบัดสัตย์ มีคนสั่งการ ไม่ได้เน้นสาระของนโยบาย ไม่ได้เน้นถึงนโยบายมาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทำให้ผลผลิตออกมาอย่างไร เห็นได้ชัดว่าฝ่ายรัฐบาล มองว่าวาทกรรมเป็นเรื่องใหญ่

“วาทกรรม” เป็นองค์ประกอบสำคัญ ในวัฒนธรรมการเมืองของไทย นักการเมืองจะต้องเป็นนักพูด ประดิดประดอยคำพูด เป็นวาทกรรมการเมืองไทย นักการเมืองที่พูดเก่งมักประสบความสำเร็จ ในอาชีพ นักการเมืองคนไทยไม่ได้มองการเมืองเป็นเรื่องที่เคร่งเครียดอย่างเดียว แต่มองการเมืองเป็นเรื่องสนุกด้วย

...

ฝ่ายรัฐบาลอาจไม่พอใจ ฝ่ายค้านเสนอแนะนายกรัฐมนตรีให้เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง เพราะในวันอภิปรายนโยบาย นายกรัฐมนตรีเอาแต่อ่านสคริปต์ หรือบทที่มีคนเขียนให้ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้นำ ฝ่ายค้านถึงกับขอให้ น.ส.แพทองธารเลิกอ่าน และลุกขึ้นมาประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

วาทกรรมทางการเมือง ไม่น่าจะถึงกับเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรง ถ้าเป็นการพูดเปรียบเทียบธรรมดา ไม่ถึงกับเป็นการพูดเพื่อสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีชบ่อยครั้งที่วาทกรรมกลายเป็นเรื่องบันเทิง ทำให้การเมืองไม่เคร่งเครียดจนเกินไปนักวิชาการบางคนขอให้มองการเมืองเป็นเรื่องสนุก แต่เป็นเรื่องที่จริงใจและจริงจัง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม