เกิดวิวาทะระหว่างนักการเมืองหลายฝ่าย เรื่องรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ ใครมีอำนาจหน้าที่บริหารประเทศ ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์เรื่องน้ำท่วมหนักภาคเหนือ ไม่สามารถสั่งการอะไรได้ เนื่องจากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แม้แต่รองนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าเป็นช่วงสุญญากาศ
ฝ่ายนักการเมืองเกิดวิวาทะ ระหว่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี ที่ออกมากล่าวโทษ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรฯว่าไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังจุ้นปัญหาน้ำท่วม ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ฐานก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ เลยโดน ร.อ.ธรรมนัส ฟ้องหมิ่นประมาท
ถ้ารัฐบาลมีคณะที่ปรึกษากฎหมายเก่งๆ น่าจะแนะนำนายกรัฐมนตรีได้ว่ารัฐธรรมนูญ ม.162 ระบุว่าก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่จะเข้ารับหน้าที่จะดำเนิน ไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้ เช่นการแก้ปัญหาน้ำท่วม
ไม่ใช่มัวแต่ยุ่งเรื่องการแจกเงินหมื่นจนไม่สนใจปัญหาน้ำท่วม ในเชียงใหม่และเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ถึงวันที่ 8 กันยายน มีผู้เสียชีวิต ไปแล้วถึง 29 คน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ทรัพย์สินเสียหายไปเท่าไหร่ยังไม่รู้ และนอกจาก ม.162 แล้ว ยังมีรัฐธรรมนูญ ม.168 ให้รัฐบาลชุดเดิมอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
ม.168 ระบุว่าให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่มีข้อแม้ว่านายกฯต้องพ้นจากตำแหน่ง ตาม ม.160 (4) หรือ (5) ตรงกับการพ้นตำแหน่งของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้รองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม รักษาการแทน จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่
...
รัฐธรรมนูญเขียนอุดช่องโหว่ไว้ทุกด้าน แต่ทีมกฎหมายรัฐบาลไม่สนใจที่จะศึกษาหรือแนะนำ ปล่อยให้นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาน้ำท่วมรัฐบาลสั่งการอะไรไม่ได้จนกว่าจะเสร็จสิ้นแถลงนโยบาย อีกด้านหนึ่งสะท้อนถึงความสับสนของการปกครองประเทศไทย ที่เรียกกันว่าเป็นแบบ “รัฐราชการรวมศูนย์” เกิดภัยวิบัติในท้องถิ่นต้องรอให้รัฐบาลสั่ง
แม้แต่รองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งก็ยังบอกว่า สถานการณ์อยู่ในช่วง “สุญญากาศ” แปลว่าไม่มีใครมีอำนาจใช่หรือไม่ เปรียบเทียบ ได้กับยุคโบราณที่เกิดภาวะ “แผ่นดินว่างกษัตริย์” เรื่องแบบนี้จะปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะมีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น แต่ต้องคำสั่งนายกรัฐมนตรี.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม