“แพทองธาร” นำแถลงนโยบายรัฐบาล 10 ด้านที่ต้องทำเร่งด่วน ชี้จะเร่งผลักดันแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ยืนยันเดินหน้าต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะดึงเศรษฐกิจนอกระบบและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี ย้ำต้องทำให้คนไทย “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” ทุกนโยบายทำจริง ทำเป็น
นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาล
วันที่ 12 กันยายน 2567 เมื่อเวลา 9.00 น. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2567 โดยก่อนการแถลงนโยบาย นางสาวแพทองธาร ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภา และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 พร้อมทักทายสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ก่อนจะเข้าห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งถือเป็นการเข้าสภาฯ ครั้งแรกของนางสาวแพทองธารในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จากนั้นเมื่อเวลา 9.17 น. นางสาวแพทองธาร ได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตนเองและคณะรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง จึงขอแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย โดยประเทศไทยได้เผชิญความท้าทายหลายประการ โดยเรื่องแรกคือความเป็นอยู่ของประชาชน มีรายได้ไม่เพียงพอ ความเจริญกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก
เรื่องที่ 2 คือความท้าทายด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าระดับการพัฒนาประเทศ คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีทุกทักษะ มีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน
เรื่องที่ 3 สังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.9 ล้านคน นอกจากนี้ อาชญากรรมออนไลน์และการพนันออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
...
เรื่องที่ 4 ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรองรับแรงงานกว่าร้อยละ 32-35 ของแรงงานทั้งหมด และมีมูลค่าประมาณร้อยละ 35 ของ GDP กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง กระทบต่อความสามารถในการจ้างงาน การปรับค่าจ้างแรงงาน และกลายเป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เรื่องที่ 5 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technological Disruption) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทานและแนวโน้มความต้องการใหม่ ๆ ของโลก ในขณะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ
เรื่องที่ 6 ประเทศไทยเผชิญกับภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกและจะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่องที่ 7 ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เรื่องที่ 8 ระบบราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ไม่เต็มที่ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและบทบาทซ้ำซ้อน โครงสร้างของหน่วยราชการที่แตกกระจายและไม่ประสานร่วมมือกัน มีการขยายตัวไปสู่สำนักงานส่วนภูมิภาคมากเกินความจำเป็น ระบบขนาดใหญ่โต เทอะทะ และเชื่องช้า รูปแบบการประเมินและตัวชี้วัดการทำงานไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร ขนาดและศักยภาพไม่ทันกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเป็นภาระของประชาชนในการใช้บริการอีกด้วย
และประการสุดท้าย ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป เกิดการแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ การกีดกันทางการค้า (Protectionism) การใช้กฎระเบียบโลกสร้างอุปสรรคทางอ้อมในการแข่งขัน ส่งผลให้ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายภาครัฐและปรับท่าทีของประเทศในการมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ
10 นโยบายเร่งด่วน
โดยรัฐบาลจะดำเนินการนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ดังนี้
นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ
นโยบายที่ 2 จะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นโยบายที่ 3 รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
นโยบายที่ 4 จะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP
นโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ
นโยบายที่ 6 จะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech)
นโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว
นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
นโยบายที่ 9 รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที
นโยบายที่ 10 รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ด้วยการส่งเสริมเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยเร่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ เราจะสนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) เช่น ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย
ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) ยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค และจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub)
ทั้งนี้รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ยกระดับท่าเรือ พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ ๆ เช่น สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway) ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge โดยเฉพาะด้านการลงทุน อีกทั้งจะเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ ครอบคลุม และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา สนับสนุนให้ประชาชนผลิตกระแสไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ใช้ในครัวเรือนและมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการคืนให้รัฐ พร้อมทั้งจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 เข้าสู่ระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ เร่งจัดทำแผนที่ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง และระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น
นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า ทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย รัฐบาลจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต รัฐบาลจะยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า เสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะที่เพิ่มขึ้น
รัฐบาลจะยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม รัฐบาลนี้จะต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้วในการยกระดับระบบสาธารณสุขไทย จาก “30 บาทรักษาทุกโรค” จากพื้นฐานความสำเร็จหลายสิบปีของนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค มาเป็น “30บาทรักษาทุกที่” พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด จะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ทั้งการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการตั้งครอบครัว สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต การเข้าถึงสวัสดิการ โดยเริ่มต้นจากสวัสดิการข้าราชการ รัฐบาลจะต่อยอดความสำเร็จของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย จะส่งเสริมความเท่าเทียมของชายและหญิงทั้งในระดับครอบครัวและในที่ทำงาน
นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จะสร้างการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติโดยเฉพาะการแก้ปัญหา PM2.5 และการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ จะยกระดับการบริหารจัดการน้ำ จะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน จะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลนี้จำเป็นจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติ จะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม จะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) จะปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ จะยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น ปรับบทบาทภาครัฐเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Enable) การอำนวยความสะดวก (Facilitate) และการกำกับกฎกติกา (Regulate) เพื่อให้ประชาชนและเอกชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
พร้อมระบุอีกว่า รัฐบาลจะแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจไปสู่ยุทธศาสตร์ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทย โดยจะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Non-Conflict) จะเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ และยืนยันว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและดำเนินนโยบายการคลังโดยบริหารค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด
ท้ายที่สุด รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ตนเองขอให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทยและประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทยจากวันนี้ไปถึงอนาคต และจบการแถลงนโยบายในเวลา 10.15 น.
ภาพ : ศรัณย์ พงษ์สวัสดิ์, ธนัท ชยพัทธฤทธี
...