“สุริยะ” ควง 2 รัฐมนตรีช่วย เข้ากระทรวงคมนาคมตามฤกษ์ 11 โมง แถลงผลงาน 1 ปี เป็นไปตามเป้า พร้อมเดินหน้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ย้ำ ถ.พระราม 2 ต้องเสร็จในปีนี้ ยัน คนไทยได้ใช้รถไฟ 20 บาทปีหน้า

วันที่ 10 กันยายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถือฤกษ์เวลา 11.00 น. เดินทางเข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงคมนาคม หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว

นายสุริยะ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นห้วงเวลาครบ 1 ปีของการเข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงคมนาคม (นับจากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เป็นฟันเฟืองสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์แบบเป็นที่ประจักษ์ ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและนโยบายของรัฐบาล

ตลอดระยะเวลา 1 ปี กระทรวงคมนาคมได้สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค และรองรับการค้าการท่องเที่ยวดึงดูดการลงทุนภายในและภายนอกประเทศ การดำเนินการของกระทรวงคมนาคมที่ผ่านมาทำนโยบายไปแล้วหลายโครงการ คือมอบหมายให้กรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เร่งก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 เพื่อปิดตำนานว่าเป็นถนนที่สร้างนาน 7 ชั่วโคตร ต้องสร้างให้เสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2567 ส่วนปัจจัยที่ทำให้มั่นใจว่าถนนพระราม 2 จะสร้างเสร็จในปีนี้นั้น หลังมีงบกลาง 600 กว่าล้านบาท ได้ส่งให้ผู้รับเหมาไปแล้ว คิดว่าจะมีสภาพคล่องมากขึ้น และตนเองจะลงพื้นที่ไปติดตามงานด้วยตัวเอง

...

รวมถึงเร่งก่อสร้างทางหลวงพิเศษ M6 ให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการให้ประชาชนได้ใช้บริการ โดยจะเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่หินกองถึงนครราชสีมา ภายในเทศกาลสงกรานต์ของปี 2568 ทั้งนี้ 1 ปีของการทำงานกระทรวงคมนาคม หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเชิญหัวหน้าส่วนราชการในกระทรวงคมนาคมเพื่อกำชับให้เดินหน้าการทำงานอย่างต่อเนื่อง

“รถไฟฟ้า 20 บาท ยืนยันว่าดำเนินการต่อแน่นอน โดยได้ประกาศไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมาว่า ภายในกันยายนปีหน้า (ปี 2568) จะเริ่ม 20 บาทตลอดสาย แต่มีเรื่องที่ต้องทำหลายเรื่อง ทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แต่มีหลายกระบวนการที่จะต้องประสานงาน ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามและจะมอบให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบ”

ทั้งนี้ ได้เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานในรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้นโยบายมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริงกับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกสีทุกสายตามเป้าหมายในเดือนกันยายน 2568 พร้อมยอมรับว่ากว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะมีผลบังคับใช้ได้ ต้องผ่านหลายกระบวนการ ทั้งการตรวจร่างกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจากที่ตนประสานขอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าต้องใช้เวลาตรวจประมาณ 4 เดือน ขณะเดียวกันต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีใหม่ และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวต่อไป

โดยคณะทำงานจะเดินหน้า อาทิ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการจัดหาเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม โดยเฉพาะร่างกฎหมายตั๋วร่วม ต้องพยายามผลักดันให้มีผลบังคับใช้ก่อนเดือนกันยายน 2568 เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการดำเนินงาน และลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม

ขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าทุกสีได้ภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่ได้เคยประกาศไว้ จากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือ 2 ปีประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะนำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาสมทบเข้ากองทุนฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยทาง รฟม. ก็ยินดี

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าจะใช้ท่าเรือคลองเตยทำเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์นั้น นางมนพร ยืนยันว่า รัฐบาลนายเศรษฐา ไม่เคยมีนโยบายที่จะย้ายท่าเรือ แต่จะปรับปรุงท่าเรือคลองเตยให้มีประสิทธิภาพเอื้อต่อการขนส่งทางน้ำ แต่มีบางส่วนของท่าเรือคลองเตยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้ามีโครงการเดิมของการท่าเรือได้ทำศึกษาพัฒนาท่าเรือให้เป็นบิ๊กพอร์ท พร้อมระบุต่อไปว่า การย้ายท่าเรือคลองเตยเพื่อทำเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ยังไม่ถึงตรงนั้น แต่ก็เป็นนโยบายของรัฐบาล เรื่องนี้จะต้องรอให้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนถึงจะลงในรายละเอียดได้.