รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร เตรียมแถลงนโยบายต่อสภา ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติงาน เป็นที่น่าสังเกตว่าการขับเคลื่อนในการทำหน้าที่นายกฯคนที่ 31 ของประเทศไทย นายกฯ แพทองธาร ใช้ความระมัดระวังทุกย่างก้าว เพราะภาพของการถอดถอน อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยังติดตาอยู่ในอนาคตอันใกล้นี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องเป็นปัญหาเร่งด่วนระดับวาระแห่งชาติด้วย

เพราะไม่เช่นนั้นต่อให้ใครมาเป็นรัฐบาลก็ทำงานไม่ได้ เมื่อเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่ต้องไปปิดสวิตช์สาม ป. แก้ไขระเบียบข้อบังคับของ คสช.ให้เมื่อยตุ้ม ประเทศก็จะได้เข้าที่เข้าทางเสียที

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ในนโยบายเร่งด่วน 10 ประการของรัฐบาลชุดนี้เสียด้วย ถ้าจะพูดในรายละเอียดนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาในวันที่ 12 ก.ย. ที่มีความยาวถึง 85 หน้า คงได้หืดขึ้นคอ

1.การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบโดยเฉพาะหนี้จากสินเชื่อบ้าน รถยนต์

2.ส่งเสริมและป้องกันผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของต่างชาติและแพลตฟอร์มออนไลน์

3.มาตรการเพื่อลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค หรือการลดค่าน้ำค่าไฟ พยุงราคาน้ำมันต่อไปโดยวิธีการทำสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรง รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง การสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่มเติม เช่น จากพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา

4.การสร้างรายได้ด้วยการนำเศรษฐกิจ นอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี

5.กระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

6.ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรสมัยใหม่

7.รัฐบาลเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อความสำเร็จจากการตรวจลงตราทั้งหมดเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ขอวีซ่า 8.แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

...

9.เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ และอาชญากรรมข้ามชาติ

10.จัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นโยบายกัญชาที่หวังว่าจะมีความชัดเจนในรัฐบาลชุดใหม่ก็ไม่มี นโยบายที่ขว้างงู ไม่พ้นคอ คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นบ่วงที่ตามรัดคออยู่ตลอดเวลา เดิมคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะใช้โอกาสนี้ ปลดระเบิดเวลาออกจากตัวเอง ให้สะเด็ดน้ำ กลับยังอยู่เป็นหอกข้างแคร่ต่อไป

เรื่องใหญ่คือเรื่องของเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านไม่มีความชัดเจนในการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การประกันราคาพืชผลการเกษตร ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ การลดคาร์บอน แก้ปัญหาภาวะโลกเดือด การพัฒนาการศึกษาและการสร้างองค์กรความสามารถในการแข่งขันให้รับมือกับความผันผวนในอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือให้ทัน รวมทั้งการสร้างวิสัยทัศน์ ใหม่ๆ ไม่ใช่ร่างนโยบายจากปัญหาปัจจุบัน

เพราะโลกปัจจุบันไม่ได้รบกันด้วยกำลังแต่สู้กันด้วยการกดปุ่ม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม