ข่าวสารบ้านเมืองในช่วงนี้ต้องถือว่าน่าตกใจ เพราะมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นข่าวอื้อฉาวแทบจะเป็นรายวัน ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบของบ้านเมือง แต่ยังเคราะห์ดี ที่ไม่มี “นักร้อง” คนไหน ยื่นคำร้องให้องค์กรอิสระเล่นงาน เรื่องจริยธรรมเหมือนนักการเมือง

เมื่อหลายวันก่อน มีข่าวเรื่องการสั่งให้นายตำรวจ 8 นาย ออกจากราชการ ไว้ก่อน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ “บิ๊กโจ๊ก” หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. ซึ่งก็โดนสอบทั้งเรื่องวินัย และอาญา ส่วนลูกน้องก็อาจโดนข้อหาในลักษณะคล้ายกัน เหมือนกับนายตำรวจอีกหลายนาย ระดับบิ๊กๆ

วันต่อมามีข่าวทีม 4 ป. ประกอบด้วยตำรวจ ป.ป.ป. ป.ป.ท. ป.ป.ช. และ ปปง. นำกำลังออกทลายเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เรียกรับสินบนในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ นครปฐม ชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ จับกุมข้าราชการกรมทางหลวง ในข้อหาเรียกรับส่วยทางหลวง มีทั้งรายใหญ่ รายเล็ก

ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวการจับกุม และดำเนินคดีตำรวจหลายฝ่าย ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจนครบาลบางสถานีใน กทม. ถูกดำเนินคดีในข้อหารีดทรัพย์จากนักท่องเที่ยวไต้หวัน และถูกจำคุกคนละหลายปี เหตุที่วงการตำรวจมีคดีที่กล่าวหาว่าตำรวจทำผิดเสียเองมากกว่า หน่วยงานอื่นๆ เนื่องจากตำรวจเป็นผู้มีอำนาจ ให้คุณให้โทษ

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวงการตำรวจท่านหนึ่งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ชี้ถึงเหตุที่ตำรวจถูกกล่าวหารับสารพัดส่วย เพราะเป็นระบบเส้นสาย มีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง จึงต้องหาเงิน ทำให้ผู้กำกับสถานีมีอำนาจสั่งการ จะบังคับใช้หรือไม่บังคับใช้กฎหมายได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหวย บ่อน ซ่อง สถานบริการ หรือรถบรรทุก

...

ระบบเส้นสาย การเล่นพรรคเล่นพวก หรือการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง และความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ จึงกลายเป็นระบบการทุจริตประพฤติมิชอบ ในวงการตำรวจ หรือแม้แต่ในวงการเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจ ที่จะให้คุณให้โทษประชาชน ก็อาจนำไปสู่ระบบการทุจริต และประพฤติมิชอบ

แต่ที่องค์กรอิสระและรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องความซื่อสัตย์และสุจริต และการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่ทั่วประเทศหลายล้านคน และเป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ต่างจากนักการเมืองระดับชาติที่มีอยู่ไม่ถึงพันคน แต่ถูกตรวจสอบเข้มข้น ทั้งที่ข้าราชการก่อความเสียหายได้มากกว่า.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม