“อลงกต” ซัด พวกสร้างความแตกแยก ท้าแน่จริงเปิดชื่อ สว.เสียงข้างน้อย ปัด สว.สีน้ำเงินกินรวบ 21 ปธ.กรรมาธิการ พร้อมย้ำ สว. ไม่มีอำนาจตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 3 กันยายน 2567 นายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.) วุฒิสภา แถลงกล่าวในช่วงหนึ่งถึงกรณี สว.เสียงข้างน้อย แถลงข่าวว่าเสียงข้างมากคว่ำมติในการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่าไม่ใช่ แต่การตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะวินิจฉัย ยืนยันว่า สว. ไม่มีมีอำนาจในการตรวจสอบ ยกเว้นกรณีการเสนอเพื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ในการประชุมเมื่อวานนี้ (2 กันยายน 2567) จึงมีการเสนอให้ประธานวุฒิสภา ถอนเรื่องนี้ออกไป ซึ่งมีมติเห็นชอบ ไม่รับเรื่องนี้ 

ส่วนกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการ สว. ทั้ง 21 คณะ ที่ สว.พันธุ์ใหม่ หรือ สว.เสียงข้างน้อย ออกมาเปิดเผยว่า  สว.เสียงข้างมาก ไม่ได้ทำตามข้อตกลง โดยตีตกร่างแก้ไขข้อบังคับทั้งหมดของเสียงข้างน้อยนั้น ขอยืนยันว่า สว.ทั้งหมด มีเฉพาะ 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย ผลการโหวตอยู่ที่การลงมติ ก็เหมือนกับกรณีการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ที่เมื่อแพ้แล้วมาบอกว่าไม่ชอบธรรม แต่พอใน กทม. ได้เต็มพื้นที่กลับไม่พูดถึง แล้วมาร้องกับสื่อมวลชน มาหาแสงแบบนี้หรือ เพราะไม่ว่าจะมี กมธ. กี่คณะ แต่ในท้ายที่สุดการเสนอร่างนี้ก็เป็นสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ แม้จะมีการแปรญัตติ แต่ญัตตินั้นเสียงส่วนมากก็ไม่เห็นชอบ 

...

“ผมไม่ได้เป็นพวกหิวแสง แต่การสร้างความแตกแยกถามว่าเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อย ต้องว่ากันไปตามมติ และสิ่งที่บุคคลคนนั้นเสนอมาก็ไม่อยู่ในระเบียบข้อบังคับของ สว. แต่ควรไปยื่น ป.ป.ช. เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่ทำให้เสียงส่วนใหญ่กลายเป็นจำเลยทันที ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ สว.”

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปถึงเรื่องที่ สว.เสียงข้างน้อย บอกเสนออะไรไปก็โดนกินรวบนั้น นายอลงกต เผยว่า คำถามคือ สิ่งที่ สว.เสียงส่วนน้อยเสนอนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ อาทิ กรณีบัตรสนเท่ห์ ก็มีคำถามว่าควรพิจารณาหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าคณะ กมธ. ไม่นำบัตรสนเท่ห์มาพิจารณา เพราะเห็นว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ และที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบ เพราะบัตรสนเท่ห์ไม่สามารถระบุความบกพร่องทางจริยธรรมของผู้สมัครได้ ถามว่าเหตุใดท่านจึงไม่ระบุให้ชัดว่าเสียงส่วนน้อยมีกี่คน ยกตัวอย่างในวันที่มารายงานตัว สว. ที่มีการถือป้ายบอกว่ามี 9 คน แต่พอลงมติ  มีเสียงไม่เห็นด้วยเพียง 2 คน ดังนั้น อย่าอธิบายโดยไม่สนตรรกะ ขอให้ระบุตัวตนมาเลยว่าเสียงส่วนน้อยมีใครบ้าง กี่คน

ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่ากลุ่ม สว.สีน้ำเงิน จะเข้าไปดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. ทั้ง 21 คณะนั้น นายอลงกต ตอบว่า ยังไม่สรุปเช่นนั้น มีการเห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ. 21 คณะ ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอชื่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในคณะ กมธ. ก่อน แล้วจึงจะเลือกบุคคลอีกครั้งว่าใครจะดำรงตำแหน่งอะไรใน กมธ.นั้น ๆ ยืนยันว่ายังไม่มีการกำหนดชื่อ ซึ่ง กมธ. ที่ สว. อยากเข้ามากที่สุดคือ กมธ.การท่องเที่ยว วุฒิสภา ส่วนตนต้องการอยู่ในคณะ กมธ. ติดตามงบประมาณวุฒิสภา

ทางด้านคำถามว่าควรเลือกคนในคณะ กมธ. ให้ตรงกับกลุ่มอาชีพหรือไม่ นายอลงกต กล่าวว่า คงต้องดูตัวเองก่อนว่ามาจากกลุ่มอาชีพไหน ซึ่งที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับการเสนอ และเป็นสิทธิของแต่คนที่จะลงใน กมธ.คณะไหน  หรือจะเสนอชื่อมาแบบกลุ่มก็เป็นสิทธิของเขา แต่อย่าลืมว่าคนที่จะเป็นประธาน กมธ. จะเป็นได้แค่ตำแหน่งเดียว ต้องลาออกจากตำแหน่งประธาน กมธ. ในคณะอื่น.