ขณะที่คนไทยทั่วประเทศหลายล้านคน โดยเฉพาะคนภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และคนกรุงเทพฯ กำลังใจตุ๊มๆ ต่อมๆ เป็นห่วงว่าปี 2567 นี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ เหมือนกับมหาอุทกภัยปี 2554 หรือไม่ แต่คนส่วนใหญ่คงสบายใจไปได้ เพราะได้รับคำยืนยันจากทั้งฝ่ายการเมือง และภาคข้าราชการว่า ไม่มีมหาอุทกภัย

กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน คาดว่าในช่วงเดือนกันยายนนี้ อาจมีพายุพัดผ่านภาคเหนือ ตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติต้องเตรียม 10 มาตรการรับมือ ส่วนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีช่องมรสุมพาดผ่านพม่า ส่งผลให้ภาคเหนือตอนบนมีฝนตกหนัก

เกิดน้ำท่วมใน 12 จังหวัด และคาดว่าตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนเป็นต้นไป คาดว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะมีพายุก่อตัวขึ้นในมหาสมุทร แปซิฟิก ทำให้ความกดอากาศต่ำ ฟอร์มตัวขึ้นในฟิลิปปินส์ แต่คาดว่าจะเข้าจีน ไม่กระทบถึงไทย แต่ในครึ่งแรกของเดือนกันยายน จะมีฝนตกหนักใน 15 จังหวัดภาคเหนือ

อีกด้านหนึ่ง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้หารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยและนครสวรรค์ นายภูมิธรรมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะมาคุยกันเรื่องแก่งเสือเต้น

รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าในภาคเหนือ แหล่งน้ำที่กระจายตัวจากเหนือ ลงใต้ เช่น ปิงกับวัง ไหลจากเชียงใหม่ น้ำส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา แต่แม่น้ำยมมีปัญหาติดต่อกันมาหลายสิบปี เมื่อไหลลงมาไม่มีที่รับน้ำ สุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ จึงต้องรับน้ำทั้งหมด เกิดปัญหาน้ำท่วมประจำ ทุกปี แต่ประชาชนคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อรับน้ำ

...

กลายเป็นที่มาของพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ทำนองว่ารัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร อาจ “ปลุกผี” แก่งเสือเต้นขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกัน ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในจังหวัดแพร่ โครงการป้องกันน้ำท่วมภาคเหนือที่ยืดเยื้อเรื้อรัง

หลังจากเกิดมหาอุทกภัยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อแก้ปัญหาฝนแล้งน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาอมตะของไทย ที่ปรึกษาคนหนึ่งสัญญาว่าจะต้องแก้ “ปัญหาน้ำ” ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย “จากวันนี้จนชั่วกัลปาวสาน” แต่ถึงวันนี้ ฝนแล้งน้ำท่วมก็ยังสบายดีอยู่.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม