หลังจากที่หายหน้าไปนาน ในที่สุดอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็กลับมาประกาศว่าวันข้างหน้าจะกลับมาตรงนั้นอีกหรือไม่ เป็นโจทย์ยากแต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เหตุที่นายอภิสิทธิ์ออกจากประชาธิปัตย์เป็นผลจากความขัดแย้งในพรรค ฝ่ายหนึ่งจะเข้าร่วมรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านอย่างขณะนี้

นายอภิสิทธิ์คัดค้านการร่วมรัฐบาลกับพรรคของ 3 ลุง ที่มาจากรัฐประหาร ส่วนความขัดแย้งในปัจจุบันก็คล้ายๆกัน พรรคประชาธิปัตย์แตกแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 พูดเก่ง ตำหนิเก่ง แต่ทำงานไม่เก่ง กลุ่มที่ 2 พูดไม่เก่ง ตำหนิไม่เก่ง แต่ทำงานเก่ง อยากสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศชาติ ประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์

แต่ยังถือว่าเคราะห์ดี ถึงแม้จะเกิดความขัดแย้ง แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดพรรคแตก ผู้อาวุโสของพรรค 3 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นอดีตหัวหน้าพรรค แม้จะแพ้มติแต่ยอมรับมติพรรค ตามกติกาประชา ธิปไตย สมกับที่เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุด ตั้งมาตั้งแต่ปี 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รุ่นเดียวกับพรรคอื่นๆที่ล้มหายไปตามสถานการณ์

พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม ที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม พรรค ปชป.อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มอำนาจนิยม สนับสนุนรัฐบาลคณะรัฐประหารยังคงสืบทอด อุดมการณ์ทางการเมือง แบบอำนาจนิยม หรือประชา ธิปไตยจนถึงวันนี้

นับตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นนับร้อยๆพรรค แต่ยังรอดปากเหยี่ยวปากกา รอดรัฐประหารมาได้เพียงพรรคเดียว นั่นก็คือประชาธิปัตย์ ที่เคยสร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วอย่างน้อย 4 คน แม้นโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมอาจต่างกัน เป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม แต่แนวทางการเมืองต่างยึดมั่นประชาธิปไตย

...

ชะตากรรมของพรรคประชาธิปัตย์มีทั้งขาขึ้นและขาลง เคยเป็นพรรคอันดับต้นๆที่เป็นขวัญใจของคน กทม. และคนใต้ในยุคที่ต้องต่อสู้กับเผด็จการ อย่างยืดเยื้อยาวนาน แต่ในที่สุดก็สูญเสียฐานเสียงสำคัญคือ กทม. ที่เคยเป็นผู้ว่าราชการหลายคน และคุมเสียงข้างมาก กทม.หลายครั้ง แต่ต้องสูญพันธุ์ในการเลือกตั้ง 2566

ต้องถือว่าโชคดีที่พรรคประชาธิปัตย์มีระดับผู้นำพรรค ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์การปกครองระบบรัฐสภา เป็นพรรคที่ยอมรับกันว่าเป็น “สถาบันทางการเมือง” ไม่ใช่พรรคของคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือตระกูล ใดตระกูลหนึ่งมีผู้นำอย่างนายชวน หลีกภัย หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่คัดค้านแนวคิด ต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ เป็นฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม