“สมศักดิ์” ขอบคุณ “แพทองธาร” ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ครม. ให้ความสำคัญปัญหาน้ำท่วมสุโขทัย ยัน ที่ผ่านมาพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด เผย ชงแผนแก้น้ำท่วมให้รัฐบาลสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง 

วันที่ 1 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย ตนขอขอบคุณ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาของพี่น้องประชาชน จึงมีการลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์และหาแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว พร้อมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย รวมถึงขอขอบคุณคณะรัฐมนตรีทุกท่านที่ลงพื้นที่มาช่วยติดตามการบริหารจัดการน้ำด้วย 

นายสมศักดิ์ เผยต่อไปว่า ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจาก 2 จังหวัด คือ จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ ทำให้จังหวัดสุโขทัยได้รับผลกระทบมานานหลาย 10 ปี ตนในฐานะนักการเมืองในพื้นที่ ขอยืนยันว่าพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถึงแม้ได้งบประมาณมาช่วยทำโครงการระบายน้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำยม แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้าง รวมถึงบางโครงการก็ยังไม่คืบหน้า เนื่องจากติดเรื่องเวนคืนที่ดิน โดยพี่น้องประชาชนก็ต้องได้เงินทดแทนอย่างเหมาะสม 

...

ทั้งนี้ จึงได้เสนอแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมกับรัฐบาล เพื่อให้เป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ลดความเดือดร้อนของประชาชน และส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดสุโขทัยในระยะยาว จึงเสนอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งในพื้นที่ ดังนี้

1. หมู่ 6 ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก ระยะทาง 300 เมตร 

2. หมู่ 7 ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก ระยะทาง 800 เมตร 

3. หมู่ 5 ต.คลองตาล เทศบาลศรีสำโรง ระยะทาง 150 เมตร 

4. หมู่ 6 ต.วังใหญ่ และหมู่ 8 ต.วังทอง อ.ศรีสำโรง ระยะทางรวม 990 เมตร 

5. หมู่ 1,6,7 ต.ปากแคว อ.เมือง ระยะทาง 2,400 เมตร

6. ต.ยางซ้าย อ.เมือง ระยะทาง 5,000 เมตร (เขื่อนคอนกรีตและวัสดุทดแทน)

ในตอนท้าย นายสมศักดิ์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยมาโดยตลอด และกำลังจะช่วยเร่งแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ เพราะตนเข้าใจเป็นอย่างดีว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต้องรับความเดือดร้อนขนาดไหน ตนจึงพยายามผลักดันการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเต็มที่ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลมีการพูดถึงเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว 

ส่วนสถานการณ์น้ำจังหวัดสุโขทัยวันนี้ ยังได้รับผลกระทบอยู่ 7 อำเภอ 48 ตำบล 263 หมู่บ้าน 7,887 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 43,747 ไร่ โดยจะเห็นได้ว่าเวลาเกิดอุทกภัยจะมีพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ตนจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายหันมาทบทวนการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับพี่น้องชาวสุโขทัยด้วย.