อดีตหัวหน้า ปชป. “อภิสิทธิ์” ไม่แปลกใจ ปชป. ยุค “เฉลิมชัย” ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ย้ำขัดอุดมการณ์พรรคกระทบฐานเสียงหนัก ชี้ ปชป.อยู่ยาวนานไม่ใช่อะไรก็ได้ เพื่อก้าวสู่อำนาจ มองเหตุผลร่วมรัฐบาลเพราะได้ตำแหน่ง ไม่มีใครทราบพรรคจะสูญพันธุ์หรือไม่ แต่หนักใจแทนผู้บริหาร ตอก พท.ไม่เปลี่ยน แม้บอนไซ ปชป. สำเร็จ

วันที่ 31 ส.ค. 2567 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการร่วมรัฐบาลของพรรคปชป. กับพรรคเพื่อไทยว่า ตนไม่ได้แปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมองเห็นมาระยะหนึ่งแล้วจึงเป็นเหตุผลที่วันที่ตนลาออกจากพรรคปชป. หลังจากที่เข้าไปคุยกับหัวหน้าพรรคปชป.คนปัจจุบัน ก็เข้าใจว่าทิศทางจะเป็นอย่างนี้ ตนจึงตัดสินใจที่จะลาออกมาจึงไม่แปลกใจอะไร และทราบมาตลอดว่า มีความพยายามในการติดต่อกันมาแบบนี้ ในฐานะที่ผมเป็นอดีตสมาชิกพรรคปชป. มานานและผูกพันกับพรรค เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากซึ่งยังคบหาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ต้องบอกว่า การกระทำครั้งนี้ กระทบกระเทือนจิตใจของสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคจำนวนมาก จะสังเกตเห็นอดีตหัวหน้าพรรคทั้งสามคนที่ไม่เห็นด้วย ยังมีตำแหน่งอยู่ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบรุนแรงในช่วงหนึ่งถึงสองวันที่ผ่านมา ที่มีคนมาพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นกับตนไปในทิศทางเดียวกันหมด แต่เมื่อตัดสินใจเป็นทิศทางของพรรคแล้ว ผู้บริหารพรรคก็ต้องเดินหน้าและรับผิดชอบ

“มันไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งในอดีตหรือการยึดติดกับเรื่องเก่า อันนี้เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ มันขัดกับความเป็นพรรคปชป. ที่ยึดถือกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแง่ของอุดมการณ์พรรคที่เคยประกาศไว้ ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคกับแนวทางที่พรรคทำงานทางการเมืองมาตลอด ผมขอย้ำว่า ปชป.ที่อยู่ได้มาอย่างยาวนานในอดีตที่ผ่านมา มีเหตุผลหลักๆ นอกเหนือจากแนวคิดแนวทางในการทำงานแล้วคือ ความพร้อมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาอำนาจโดยไม่มีเงื่อนไข นี่คือความแตกต่างของพรรค ปชป.กับหลายหลายพรรคในอดีต และจะสังเกตเห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน สูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปก็ยากที่จะกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา ผมสันนิษฐานว่าทางผู้บริหารพรรคเขาก็มีเหตุผลของเขา แต่ไม่แน่ใจว่า แนวความคิดที่มองว่า การเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วจะช่วยสร้างผลงานหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อที่จะเรียกคะแนนนิยมมาเป็นจริงได้ เนื่องจากจริงๆแล้วสังคมมองเห็นชัดเจนว่า การเข้าร่วมครั้งนี้ ไม่ได้มีผลในเชิงเสถียรภาพของรัฐบาลเพราะไม่มีพรรคปชป. รัฐบาลก็มีเสถียรภาพอยู่แล้ว และการเข้าไปร่วมครั้งนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีนโยบายอะไรที่ ปชป. จะเข้าไปผลักดันในตำแหน่งที่ได้มา เป็นเรื่องที่ผู้ที่ตัดสินใจจะต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป ดังนั้นผมมองว่าการกระทำครั้งนี้ ส่งผลค่อนข้างรุนแรงกับบรรดาผู้สนับสนุนพรรค ที่สนับสนุนมายาวนาน จึงต้องติดตามไปต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในแง่ของผลจากการตัดสินใจครั้งนี้และ ความรับผิดชอบที่จะตามมา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

...

เมื่อถามว่า เลขาธิการพรรคปชป. ระบุว่า ที่ผ่านมาพรรคปชป.พ่ายแพ้มาโดยตลอดจึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้พรรคเติบโต นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กล่าวว่า เดี๋ยวรอพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าในการพ่ายแพ้ที่ผ่านมา ทุกคนก็พูดชัดเจนว่า หลายครั้งเราอาจจะทำด้วยวิธีอื่น แล้วก็ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้ แต่ความเป็นประชาธิปัตย์ทำให้เราไม่ทำ นี่คือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตนขอย้ำที่มีคำว่าประชาธิปัตย์อยู่มายาวนานไม่ใช่เพราะว่าอะไรก็ได้เพื่อก้าวเข้าสู่อำนาจ เมื่อถามว่า มีการอ้างว่าที่พรรคปชป. เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้เพราะผู้บริหารเมื่อปี 53 ไม่อยู่ในพรรคแล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะมอง ตนไม่ตอบโต้อะไร เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องผู้บริหารยุคใดยุคหนึ่ง กรณีนี้เป็นเรื่องอุดมการณ์ แนวทางของพรรคที่ทำมาช้านาน คนอาจจะบอกว่า พรรคแต่ละยุคแต่ละสมัย อยู่ที่ตัวคน หรืออยู่ที่ผู้บริหารพรรค ความจริงจะเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเพราะบุคคลไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้า แต่สิ่งที่จะคงความเป็นพรรคคือ ความคิดอุดมการณ์ แม้วันนี้ตนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้ว แต่ยังยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปัตย์อยู่

เมื่อถามย้ำว่า การอ้างเช่นนี้เหมือนกับ ให้นายอภิสิทธิ์เป็นแพะหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ติดใจอะไรเพราะเหตุผลหนึ่งที่ตนลาออกมาจากพรรค ปชป.เพราะรู้ว่าจะเป็นความขัดแย้งเป็นปัญหาและตนถือว่าเมื่อพรรคได้เลือกผู้บริหารชุดนี้ก็ต้องให้เขาทำงานอย่างเต็มที่ แต่จริงๆ การตัดสินใจเข้าไปร่วมรัฐบาล ตนคิดว่าสังคมมองไปในทางเดียวกันว่า ความจำเป็นมันไม่มี แต่เป็นเรื่องของการอยากเข้าสู่อำนาจมากกว่าหรือความเชื่อที่ว่าการจะประสบความสำเร็จทางการเมืองได้ต้องเข้าไปมีอำนาจ ส่วนที่มีการมองว่าระหว่างพรรคปชป. กับพรรคเพื่อไทย ที่สู้กันมายาวนาน สุดท้ายจบแค่ที่ว่ามีอำนาจร่วมกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อย่าไปเจาะจงเฉพาะปชป. ตนคิดว่าตั้งแต่การเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากที่สนับสนุนหลากหลายพรรค มีความรู้สึกว่ามีการละทิ้งหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เคยบอกกับสมาชิกหรือผู้สนับสนุนไว้ ดังนั้นนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พรรคประชาชน (ปชน.) ถูกมองว่าจะมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะไม่ได้เข้ามาอยู่ในขบวนการแบบนี้และต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย สำหรับตนพรรค ปชป. ที่อยู่ในจุดที่น่าจะมีโอกาสสร้างพื้นที่ใหม่ทางการเมือง สำหรับประชาชนที่เขามีความรู้สึกว้าเหว่ว่า ความเชื่ออุดมการณ์ ความคิดที่อยากทำการเมืองที่ดีหายไปมันหายไปเกือบหมด และอาจจะไม่ได้เห็นตรงกับพรรคประชาชนในหลายเรื่อง

เมื่อถามว่า มองว่าการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้พรรคปชป.ได้อะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ตำแหน่ง ส่วนที่บางคนมองว่าขณะนี้ การเมืองวิปริต วิกฤติอุดมการณ์แล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นสภาพการเมืองเป็นอย่างนี้มาระยะหนึ่งแล้ว พอผ่านพ้นตรงนี้ไปแล้ว รัฐบาลต้องสร้างผลงานให้กับประชาชนเพื่อหาทางเรียกคะแนนนิยมกลับมา สำหรับตนสิ่งที่น่าเสียดายคือ ประเทศอยู่ในช่วงที่ ค่อนข้างจะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัยและอีกหลายเรื่อง ที่กำลังต้องการระบบการเมืองที่ดีเข้ามาจัดการ ทั้งประสิทธิภาพและคุณธรรม แต่ขณะนี้ ในรอบปีกว่าที่ผ่านมา เกือบทุกองค์กรทุกสถาบัน กำลังถูกตั้งคำถาม ทั้งกระบวนการยุติธรรม นโยบายที่ใช้ในการหาเสียง มันบั่นทอนศรัทธา และการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะทำให้การบริหารประเทศแก้ปัญหายากๆได้

เมื่อถามว่า จะทำให้คนที่อกหักจากพรรคปชป. ไปเลือกพรรคประชาชนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่ตนได้พูดไปแล้วว่า พรรคประชาชนอยู่ในจุดที่ค่อนข้างได้เปรียบในแง่ที่ว่า ประชาชนมองว่า พรรคการเมืองต่างๆ วนเวียนและอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความคิดอุดมการณ์ ใครจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่สำหรับ ผู้สนับสนุนพรรคที่ร่วมรัฐบาลอยู่ขณะนี้ เขามองว่าเป็นเรื่องเดียวกันเป็นเนื้อเดียวกัน จะอ้างอย่างเดียวคือ พรรคป้องกันไม่ให้พรรคที่เป็นฝ่ายค้านอยู่ มาเป็นรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นว่า ทุกวันนี้ไปเพิ่มความเข้มแข็งให้กับพรรคฝ่ายค้าน ส่วนคะแนนจะสวิงหรือไม่ ตนไม่ได้อยู่ในวงการเมือง แต่ได้พบปะกับผู้คนจำนวนมาก ที่มีความรู้สึกว่า เขาไม่มีทางเลือก พรรคที่ยังไม่มีแผล ยังไม่มีประเด็นที่มองว่า เป็นการทรยศต่อความคิดความเชื่อของคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อถามว่า ในมุมของพรรคปชป.หลังเข้าร่วมรัฐบาลกระทบกับฐานเสียง มีโอกาสจะฟื้นฟูกอบกู้พรรคได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่า ควรจะตัดสินใจทำตามฐานเสียงเสมอไป ปัญหามันอยู่ที่ว่า ฐานเสียงด้วยเหตุผลอะไรและรับฟังได้จริงหรือไม่ อย่างที่ตนบอกว่าไม่ได้มีความจำเป็นในการเสริมเสถียรภาพของรัฐบาลยังมองไม่เห็นว่า นโยบายที่จะเข้าไปผลักดันที่เป็นรูปธรรมที่ประชาชนจะเข้าใจรับรู้ได้ว่า เป็นเรื่องของประชาธิปัตย์จริงๆคืออะไร จึงเป็นเรื่องยากลำบากในการที่จะกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา

เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคปชป.อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำ 10 หรือสูญพันธุ์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนว่าไม่มีใครทราบ แต่หนักใจแทนผู้บริหารพรรค อยากบอกว่าตรรกะที่บอกว่า ถ้าเข้าไปมีอำนาจแล้วมีผลงานซึ่งก็ใช้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 62 ซึ่งตน พูดตั้งแต่ตอนนั้นว่า มันไม่ใช่ สำหรับผู้ที่สนับสนุนพรรคมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะพรรคปชป. คือเรื่องของจุดยืน เรื่องของความมั่นคง และหลักอ้างอิงในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

เมื่อถามว่าโอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะกลับมากอบกู้พรรคปชป.อีกครั้ง เป็นไปได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนพูดไปแล้วว่า ตนไม่ได้คิดตั้งพรรค ไม่ได้คิดว่าจะไปอยู่ไหน แต่ตอนจะกลับมาประชาธิปัตย์ก็ต้องเป็นอุดมการณ์ประชาธิปัตย์แบบที่ตนเข้าใจ เมื่อถามย้ำว่า มีการพูดถึงว่าพรรคปชป.บอบช้ำใกล้จะตาย แต่จะกลับมาฟื้นใหม่ได้ โดยมีนายอภิสิทธิ์กลับมากอบกู้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีใครทราบอนาคตและการจะกอบกู้อะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะนี้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ก่อนว่า แนวทาง ที่ผู้บริหารพรรค ปชป.ชุดปัจจุบันเชื่อ มันเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงหลายคนที่วิเคราะห์ก็ผิด และพรรคก็เติบโตไป แต่สำหรับตนไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร กับการเติบโตด้วยวิธีแบบนี้ จึงอยู่ที่ผู้บริหารเขาจะตัดสินใจอย่างไร ด้วยความที่ตนอยู่กับพรรคมานานมาก และรู้จักกับทุกคนที่สนับสนุนเรื่องนี้ ตนยังเชื่อว่ามีคนจำนวนมาก ยังมีความผูกพัน ยังมีความรักความเป็นประชาธิปัตย์แบบที่เขาเคยรู้จัก วันข้างหน้าตนจะกลับมาตรงนั้นได้หรือไม่ ก็เป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า มองว่าพรรคปชป.ขณะนี้ละทิ้งอุดมการณ์ และคำขวัญของพรรคไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยเขาบอกเองว่าประชาธิปัตย์ วันนี้ไม่ใช่ประชาธิปัตย์วันก่อน ส่วนที่พรรคเพื่อไทยที่บอกว่าอุดมการณ์คล้ายกันแล้วนั้น ก็ต้องถามพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นคนเขียนหนังสือเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยเขามองว่า พรรคปชป.เปลี่ยนไปแล้ว ตนก็มองว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เปลี่ยน ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง และสิ่งที่หลายคนไม่ใช่เฉพาะพรรคปชป. ที่ประชาชนออกไปต่อสู้ และหลายเรื่อง เป็นสิ่งที่ศาลพิพากษาแล้วก็ยังคงดำรงต่อไปเป็นแนวทางของพรรคเพื่อไทยจนถึงปัจจุบัน