เข้าใจว่าวันนี้ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด รายชื่อ ครม.แพทองธาร ชินวัตร คงจะลงตัวเรียบร้อยแล้ว จากนั้นอีกประมาณ 15 วัน ก็จะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภา เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลชุดนี้สมบูรณ์แบบ และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ บทเรียนราคาแพงที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า อย่าล้อเล่นกับระบบ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังมีคมหอกคมดาบที่ซุกซ่อนเอาไว้อีกมากมาย

มองไปข้างหน้าอย่างไรเสียประเทศไทยก็จะต้องมีนายกฯ มี ครม.เข้ามาบริหารประเทศ ที่เรียกว่าฝ่ายบริหาร มี สส.-สว.มาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายในสภา เรียกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ และมีตุลาการ ที่คอยถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ในการตรวจสอบให้อยู่ในความพอดี ที่เรียกว่าสามเสาหลัก

ถึงตอนนี้อาจจะมองว่าเป็นเสาหักก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจในการปกครองคือประชาชน ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ยกตัวอย่างการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันนี้เดิมที ทรัมป์ แทบจะนอนมา แต่เมื่อ ไบเดน ประกาศถอนตัวและส่งไม้ต่อให้ แฮร์ริส สมรภูมิการเลือกตั้งก็เปลี่ยนไปทันที มีคนสนับสนุนบริจาคทุนหาเสียงให้ แฮร์ริส ไว้สู้กับ ทรัมป์ ถล่มทลาย กลายเป็นตัวเลือกใหม่ของคนอเมริกัน

ผลสำรวจจาก Ipsos หน่วยงานวิจัยตลาดระดับโลก พบว่า ที่ชาวอเมริกันหันมาเทใจให้กับ แฮร์ริส น่าจะมาจากชาวอเมริกันในปัจจุบันให้ความสนใจเรื่องปัญหา ปากท้อง เงินเฟ้อ และค่าครองชีพ ถึงร้อยละ 50 ของผู้ตอบแบบสอบถาม อีกร้อยละ 33 สนใจเรื่องปัญหาผู้อพยพ ปัญหาการเมืองอยู่ที่ร้อยละ 24 ปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนอยู่ที่ร้อยละ 22 นอกนั้นเป็นปัญหาอื่นๆอีกร้อยละ 17

ที่เห็นชัดเจนคือคะแนนนิยมของ เดโมแครต พุ่งสูงขึ้นในรัฐที่เป็นเขตอุตสาหกรรม เช่น รัฐเพนซิลเวเนีย หรือมิชิแกน โดยเฉพาะความนิยมจากกลุ่มแรงงานจากฟลอริดา หรือเท็กซัส ที่เคยเป็น Swing States นโยบาย โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือ Opportunity Economy ของ แฮร์ริส โดนใจคนอเมริกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษีที่จะช่วยเด็กแรกเกิดสูงถึง 6 พันดอลลาร์ ที่อยู่อาศัย 3 ล้านยูนิตใน 4 ปี มาตรการควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภค ลดค่ารักษาพยาบาล ค่ายา เป็นเรื่องปากท้องธรรมดา ไม่มีอะไรพิสดารพันลึก

...

ส่วนที่อินโดนีเซียเกิดการประท้วงเดือดที่หน้ารัฐสภา เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียไปแก้กฎหมายเลือกตั้ง ลดอายุผู้สมัครที่จะเอื้อประโยชน์กับกาเอซัง ปังอาเรป ลูกชายคนเล็กของโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ที่เป็นต่อเนื่องกันมาสองสมัยแล้ว กลายเป็นว่าการเมืองอินโดนีเซียกำลังเอื้อประโยชน์ลักษณะการสืบทอดอำนาจ หรือที่เรียกว่า การเมืองวงศาคณาญาติ Dynastic Politics คนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียก็เลยรับไม่ได้ พากันออกมาประท้วงเต็มถนน

ยุคนี้การเมืองที่ไหนๆในโลกก็เหมือนกันทั้งนั้น.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม