“คริษฐ์” สส.พรรคประชาชน ยกประสบการณ์สร้างฝาย 8 ปี ชี้ ฝายแกนดินซีเมนต์ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วม แต่ช่วยชะลอน้ำให้อยู่นานขึ้นไปจนถึงหน้าแล้ง ท้า ย้อนดูโครงการทั้งไม่คุ้มค่า-ไม่โปร่งใส ลั่น สส.เพื่อไทย ก็โหวตตัดงบ

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายคริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดตาก เขต 1 พรรคประชาชน ให้ความเห็นต่อกรณีที่ สส.พรรคเพื่อไทย ตั้งประเด็นโจมตีอดีตพรรคก้าวไกล เรื่องการตัดงบประมาณก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในปีงบประมาณ 2567 อ้างเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมมีความรุนแรงในปัจจุบัน ว่า ข้อโจมตีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเอง ในฐานะที่ตนมีประสบการณ์ทำฝายมาแล้ว 8 ปี ต้องเข้าใจก่อนว่าการทำฝายโดยพื้นฐานทั่วไปอย่างไรก็ต้องทำในระดับที่ต่ำกว่าตลิ่งอยู่แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่ปริมาณน้ำมามากกว่าระดับของฝาย น้ำก็จะยังคงไหลผ่านไป ฝายไม่ได้ทำหน้าที่อะไรไปมากกว่านั้น

ดังนั้น วัตถุประสงค์ของฝายแกนดินซีเมนต์โดยดั้งเดิมจึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการชะลอน้ำท่วม แต่มีความหมายในการชะลอน้ำในวันที่ไม่มีน้ำ เพื่อดึงระยะเวลาให้น้ำอยู่นานขึ้นไปจนถึงหน้าแล้ง ทั้งหมดที่เป็นฝายชั่วคราว คือไม่ใช่โครงสร้างถาวรแบบเขื่อน ไม่ได้มีหน้าที่ในการป้องกันน้ำท่วมได้ ฝายจึงมีประโยชน์ในแบบเฉพาะที่นำมาใช้ได้กับสถานการณ์และบริบทแบบหนึ่งๆ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในทุกแหล่งน้ำทั่วประเทศได้ และพรรคประชาชนไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างฝาย แต่ถ้าจะสร้างฝายจริงต้องมีการพิจารณาเป็นกรณีไป เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและมีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณที่สุด

ส่วนงบประมาณการก่อสร้างฝายดินซีเมนต์ทั่วประเทศที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นั้น มีการตั้งข้อสังเกตในกรรมาธิการงบประมาณฯ ว่าส่อไม่คุ้มค่าและไม่โปร่งใส หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่กล้าแม้แต่รับประกันผลงาน 2 ปี และในการลงมติให้ตัดงบประมาณ สส.พรรคเพื่อไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่โหวตตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่เสนอให้ตัดงบฝายด้วย

...

นายคริษฐ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นวงรอบแทบทุกปีในประเทศไทย ที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างมีการศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอในแนวทางที่แตกต่างกันออกไป สำหรับพรรคประชาชน เรามีความเห็นว่าการแก้ปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมเป็นเรื่องเดียวกัน คือการมีที่กักเก็บน้ำตั้งแต่ต้นทางเพื่อเก็บไว้ใช้เมื่อยามแล้ง เมื่อถึงยามน้ำมากก็ต้องมีช่องทางให้น้ำระบายออกได้

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีน้ำท่วมและน้ำแล้งเกิดขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีน้ำเพียงพอสำหรับทุกคน แต่การจัดการที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำที่ควรจะมีมากพอสำหรับทุกคนกลายเป็นมีมากเกินไปในช่วงเวลาหนึ่ง และเมื่อช่วงเวลานั้นผ่านไปเรากลับไม่มีน้ำเพียงพอใช้ ถ้าเราสามารถแก้ปมนี้ทำให้การจัดการมีระบบขึ้นมาได้ ประเทศไทยจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอีกเลย.